"นครพนม" พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 40 ราย สั่งยกระดับมาตรการสกัดโควิดเข้าพื้นที่
19 ก.ค. 2564, 14:11
วันที่ 19 ก.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เผยแพร่ข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ว่าพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 40 ราย รวมยอดสะสม 901 ราย ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่เสี่ยงแจ้งขอเดินทางกลับมารักษาที่ภูมิลำเนา โดยเข้ารับการตรวจรักษาโรงพยาบาลไม่ได้สัมผัสผู้ใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยทั้ง 40 ราย เดินทางมาจากจังหวัดต้นทาง ได้แก่ กทม. 24 สมุทรสาคร 6 สมุทรปราการ 4 ปทุมธานี 3 และอยุธยา,นนทบุรี,นครปฐม จังหวัดละ 1 คน
จากกรณีวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ยกระดับพื้นที่สีแดงทั่วประเทศจากคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019( ศบค.) มีผลบังคับใช้คำสั่ง 20 กรกฎาคมเป็นต้นไป ทำให้พื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัดแทบกลายเป็นพื้นที่สีแดง ยกเว้น 3 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้แก่ บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร ที่ยังคงเป็นพื้นที่สีส้ม เนื่องจากทั้ง 3 จังหวัดมีเขตติดต่อกับจังหวัดพื้นที่สีแดง จึงต้องยกระดับเป็นพื้นที่สีส้มไปโดยปริยายตามข้อกำหนด สำหรับพื้นที่สีเหลืองต้องไม่มีเขตติดกับสีแดง จึงมีเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้นที่เป็นสีเหลืองคือภูเก็ต แม้พื้นที่นครพนมจะเป็นจังหวัดที่มีตัวเลขผู้ป่วยรายวันเพิ่มขึ้นสูง แต่ 99% เป็นผู้ที่แจ้งขอเดินทางกลับมารักษาที่บ้านเกิด และปฏิบัติตามกติกาของจังหวัด จึงไม่มีไทม์ไลน์ในพื้นที่
นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม ได้ปรับมาตรฐานเพิ่มเติม ข้อปฏิบัติผู้เดินทางเข้าจังหวัดนครพนม โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 17 กรกฎาคม เป็นต้นไปซึ่งแบ่งแยกข้อปฏิบัติผู้ที่เดินทางเข้าจังหวัดนครพนม เช่น ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีน กล่าวคือผู้ฉีดวัคซีนซิโนแวค(Sinovac) หรือ ซิโนฟาร์ม(Sinopharm) ครบ 2 เข็มมาแล้วมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือ แอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) หรือ ไฟเซอร์ (Pfizer) หรือ โมเดอร์น่า(Moderna) 1 เข็มมาแล้วมากกว่า 3 สัปดาห์ ต้องมีผล RT-PCR (คือการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยดูจากสารพันธุกรรม RNA ของไวรัสเป็นวิธีมาตรฐานสากล (Gold Standard) ใช้ตรวจตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยตรง เหมาะสำหรับการวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น และใช้ติดตามผลการรักษาได้ วิธีตรวจคือ การใช้คอตตอนบัดสำหรับทำการ swab สอดเข้าทางโพรงจมูกหรือลำคอ ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วินาที เพื่อเก็บสารคัดหลั่งมาตรวจหาเชื้อไวรัส) มีผลเป็นลบไม่เกิน 72 ชม. ในกรณีไม่มีผลตรวจ RT-PCR ต้องทำ Rapid Antigen Test (เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส ต้องเก็บตัวอย่างจากทางจมูกหรือจากลำคอ และต้องทำในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองว่าตรวจวิธีมาตรการ RT-PCR ได้ เนื่องจากตรวจแล้วหากผลบวก ต้องตรวจซ้ำด้วย RT-PCR แต่หากเป็นลบ ไม่ได้แปลว่าไม่ติด เชื้ออาจน้อย ต้องกักตัวสังเกตอาการ และตรวจภายหลัง) ทุกราย
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เดิมมี 10 จังหวัดให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ล่าสุด ศบค.ได้เพิ่มเติมมาอีก 3 จังหวัด รวมเป็น 13 จังหวัด ได้แก่ กทม. ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี อยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และ สมุทรสาคร ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดมี 53 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง หากต้องการเข้าพื้นที่จังหวัดนครพนม ต้องรายงานต่อผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. และต้องกักตัวในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐที่ทางจังหวัดกำหนด (State quarantine) เป็นเวลา 14 วัน ยกเว้นผู้ที่ได้รับวัคซีนฯตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID19 ในประเทศวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 ศบค. รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม 11,784 ราย มาจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,684 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 100 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 386,307 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 81 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 3,328 คน หายป่วยเพิ่ม 5,741 ราย รวมหายป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 262,225 ราย
ทั้งนี้เมื่อรวมจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อต้นปี 2563 มีจำนวน 415,170 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 3,422 คน ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ในอันดับที่ 54 ของโลก
ส่วน 5 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุด ได้แก่ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 34,963,439 ราย(+9,502),อันดับ 2 อินเดีย 31,143,595 ราย(+38,325),อันดับ 3 บราซิล 19,376,574 ราย(+34,126) ,อันดับ 4 รัสเซีย 5,958,133 ราย(+25,018) และ อันดับ 5 ฝรั่งเศส 5,867,730 ราย(+12,532)
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทางการเวียดนามได้ประกาศบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ภาคใต้ทั้งหมด เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ เพิ่มสูงขึ้นทะลุ 3,000 คน/วัน เป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ทั้งนี้ คำสั่งล็อกดาวน์ดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงินของเวียดนาม ซึ่งครอบคลุมประชากรมากกว่า 35 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศ โดยเฉพาะนครโฮจิมินห์ที่เดียวพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่า 2,000 คน/วัน รัฐบาลเวียดนามจึงจำเป็นต้องประกาศมาตรการคุมเข้มเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งใกล้ 50,000 คน นับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกใหม่ หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อมาหลายเดือนติดต่อกัน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 225 คน ซึ่งจำนวนนี้ 190 คน เกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
ด้านประเทศสาธารณรัฐประธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ได้เผยแพร่ข้อมูลผู้ติดเชื้อประจำวันที่ 19 กรกฎาคม ว่า พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 114 ราย รวมยอดสะสม 3,540 ราย เสียชีวิต 5 ราย โดยรายงานแจ้งว่าเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศข้างเคียง