ในหลวงพระราชทาน อาหาร-เจลแอลกอฮอล์ แก่บุคลากรทางการแพทย์ รพ.บุษราคัม
20 ก.ค. 2564, 15:01
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ อัญเชิญอาหารพระราชทานซึ่งทรงปรุงด้วยพระองค์เอง และเจลแอลกอฮอล์ มอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลบุษราคัม กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19
วันนี้ ( 20 ก.ค.64 ) ที่โรงพยาบาลบุษราคัม อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลอากาศเอก สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 เป็นผู้อัญเชิญอาหารพระราชทานเน้นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ได้แก่ เมนูกูลาซหมูกระชายขาวซึ่งทรงปรุงด้วยพระองค์เอง เจลแอลกอฮอล์พระราชทาน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกายและอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 ณ โรงพยาบาลสนามบุษราคัม โดยมีนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรโรงพยาบาลบุษราคัมเข้าร่วมพิธี
ในการนี้ ผู้แทนพระองค์ได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมพิธี ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด ทรงห่วงใยประชาชน ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย ทรงห่วงใยและให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกาย และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อโควิด 19
จากนั้นนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ถวายความเคารพและเข้ารับของพระราชทาน พร้อมกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่า กระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน รู้สึกซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้พระราชทานอาหารและสิ่งของพระราชทานมาโดยตลอด ทำให้เกิดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานต่อสู้กับโรคโควิดและดูแลประชาชนต่อไป ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
สำหรับโรงพยาบาลบุษราคัมได้เปิดรับผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม จนถึง 19 กรกฎาคม 2564 รวม 10,084 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 6,671 ราย ส่งรักษาต่อ 248 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 3,074 ราย ทั้งนี้ โรงพยาบาลบุษราคัมได้ประเมินสถานการณ์โควิด 19 และปรับแผนการรับผู้ป่วยจาก กทม. และปริมณฑล ให้สอดคล้องกับจำนวนเตียง พร้อมเสริมบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่หมุนเวียนสลับการทำงาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ