อัพเดต ! "5 เขต" ในพื้นที่กทม. พบโควิดสายพันธุ์เดลต้า ระบาดหนักเกิน 50%
22 ก.ค. 2564, 09:21
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 64 ศบค.รายงานสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่อีก 13,002 ราย แยกเป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 9,012 ราย ผู้ป่วยการค้นหาเชิงรุก 2,910 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,049 ราย ผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 31 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 439,477 ราย (สะสมระลอกใหม่ 410,614 ราย) หายป่วยเพิ่ม 8,248 ราย หายป่วยสะสม 304,456 ราย (หายป่วยสะสมระลอกใหม่ 277,030 ราย) รักษาอยู่รวม 131,411 ราย อาการหนัก 3,786 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 879 ราย ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 108 ราย สะสมแล้ว 3,610 ราย รวมทั้งยังทีรายงาน การระบาดของ โควิดสายพันธุ์เดลต้า ในพื้นที่กทม.
ด้านเเพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ได้เเถลงเผยถึงการล็อกดาวน์เพิ่ม 10 สถานที่/ประเภทกิจการให้จังหวัดพิจารณาปิด ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม ยกเว้น 3 สถานที่มีเหตุจำเป็นต้องเปิด ภายใต้มาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ
(1) สถานที่รับเลี้ยงเด็ก เฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาล และที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ
(2) สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ
(3) ตลาดนัด เฉพาะส่วนที่ขายอาหารหรือวัตถุดิบเพื่อการบริโภค
ทางด้านกรมการแพทย์รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม. ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่กว่าหมื่นราย ระดับอาการส่วนใหญ่ยังเป็นสีเขียวหรือเขียวเข้ม คือไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เพราะอายุน้อยเป็นวัยแรงงาน รวมกันเกือบ 80% ส่วนกลุ่มสีเหลืองและสีแดงตัวเลขเริ่มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นย้ำเสมอว่า เราพยายามสงวนเตียงในระดับ รพ.หรือไอซียูสนาม เพื่อรับสีเหลือง-สีแดง
ส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงาน พบการระบาดสายพันธุ์เดลต้าเกิน 50% ในหลายจุด โดย 5 เขตใน กทม.ที่เป็นเดลต้าเป็นหลัก ได้แก่ จตุจักร บางรัก จอมทอง คลองเตย และหลักสี่ ทำให้ กทม.พยายามมุ่งเป้าจัดทีมแก้ไขเชิงรุกในชุมชนCCR Team ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน และรับการรักษาอย่างเร็วที่สุด
ทั้งนี้ CCR Team 1 ทำงานตั้งแต่วันที่ 5-20 ก.ค. ลงพื้นที่ 139 ชุมชน เดินเท้าเคาะประตูบ้าน มีผู้รับบริการ 4,583 คน จำนวนนี้ พบว่าตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit วันที่ 20 ก.ค. จำนวน 383 คน พบผลติดเชื้อ 37 คน นำเข้าสู่ระบบแยกกักที่บ้าน 31 คน เข้าสู่แยกกักในชุมชน 3 คน และมีอาการสีเหลืองส่งต่อ รพ.อีก 3 คน สอบสวนโรคคนใกล้ชิดอีก 134 ราย แม้ผลเป็นลบแต่เสี่ยงสูง จึงให้แยกกักตัวที่บ้าน เพราะจากข้อมูล กทม.พบว่า ผู้เสี่ยงสูงมีโอกาสกลายเป็นผู้ติดเชื้อถึง 11% ถือว่าช่วยให้การตรวจครอบคลุม เข้าถึงชุมชนถึงบ้าน ตรวจค้นเจอติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย แยกออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ยังฉีดวัคซีนให้ด้วย มีการฉีดแล้ว 4,070 คน เป็นผู้สูงอายุ 2,420 ราย โรคประจำตัว 1,640 ราย และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เกิน 10 ราย