เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ผู้ว่าฯสมุทรสาคร แก้วิกฤตมหาชัย สั่งข้ามกฎป้องชีวิตคน-นำผู้ป่วยสู่ศูนย์พักคอยคนสาคร


23 ก.ค. 2564, 09:58



ผู้ว่าฯสมุทรสาคร แก้วิกฤตมหาชัย สั่งข้ามกฎป้องชีวิตคน-นำผู้ป่วยสู่ศูนย์พักคอยคนสาคร




สถานการณ์การระบาดของโควิด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น พบผู้ติดเชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างมานานกว่า 1 เดือนแล้ว และนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตหนัก เมื่อมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 500 ราย ทุกวันจนถึงปัจจุบัน ขณะที่เตียงดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะเตียงไอซียู ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ก็ไม่เพียงพอจนเกิดภาวะคนไข้ล้นโรงพยาบาล



ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่โรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร ที่จังหวัดสมุทรสาคร เปิดให้บริการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ก็ยังไม่เพียงพอเช่นเดียวกัน จนต้องเร่งจัดสร้างโรงพยาบาลสนามในชุมชน หรือศูนย์พักคอยคนสาคร CI Community Isolation มากที่สุดในประเทศ รวมทั้งการจัดสร้างโรงพยาบาลสนามสีเหลือง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลืองที่ต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนเหลว แยกออกมาจากโรงพยาบาลหลัก เพื่อให้เกิดเตียงว่างในโรงพยาบาล จะได้ง่ายและสะดวกต่อการรักษาผู้ติดเชื้อกลุ่มสีแดงที่อาจจะเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต

โรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ที่ใช้รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ปัจจุบันมีการใช้งานอยู่ทั้งหมด 7 แห่ง มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อรวมกันอยู่กว่า 2,800 เตียง ในจำนวน 7 แห่งนี้ แบ่งเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับคนไทย 6 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 9-14 และสำหรับแรงงานข้ามชาติอีก 1 แห่ง คือ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร 8 (ส่วนต่อเติมวัฒนาแฟคตอรี่)


แต่จากจำนวนผู้ที่ติดเชื้อที่แทบจะไม่มีแนวโน้มลดลงเลยนั้น ทำให้ศูนย์ห่วงใยคนสาครทุกแห่งประสบภาวะคนไข้ล้นเตียง จนต้องมีผู้ติดเชื้อนอนรอเตียงอยู่ที่บ้าน กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของจังหวัดสมุทรสาคร ที่ต้องเร่งเข้าไปแก้ไขเพื่อแยกตัวผู้ติดเชื้อเหล่านั้นออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งแยกได้เร็ว ก็เท่ากับยิ่งลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้มากขึ้นเท่านั้น

จึงเป็นที่มาของการเร่งจัดสร้าง โรงพยาบาลสนามในชุมชน หรือที่เรียกกันว่า ศูนย์พักคอยคนสาคร CI-Community Isolation โรงพยาบาลสนามในชุมชน หรือ “ศูนย์พักคอยคนสาคร” CI-Community Isolation ของจังหวัดสมุทรสาคร น่าจะเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีศูนย์พักคอยมากที่สุดถึง 33 แห่ง (ณ ปัจจุบัน)

โดย วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หรือ “ผู้ว่าฯปู” ออกประกาศคำสั่ง “พื้นที่เฝ้าระวังสูง” ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งรับเป็น เจ้าภาพในการจัดสร้างศูนย์พักคอยคนสาคร เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อสีเขียวอ่อน

ทั้งนี้ เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน และครอบครัว เข้าไปรักษาให้เร็วที่สุด อย่างน้อยคนป่วยก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง คนไม่ป่วยก็ไม่ต้องกังวล และถ้าเตียงในโรงพยาบาลมี จะนำเข้ารักษาตามระบบโดยเร็วที่สุด

ผู้ว่าฯวีระศักดิ์ให้ข้อมูลว่า ศูนย์พักคอยคนสาครคือ ศูนย์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อนำผู้ติดเชื้อมาพักรักษาตามอาการ ต่างจากโรงพยาบาลสนาม เพราะที่ศูนย์นี้จะไม่มีแพทย์ แต่จะใช้กระบวนการคนในชุมชนดูแลกันเอง และจะส่งต่อโรงพยาบาลเมื่อเตียงว่าง แต่หากรายใดอาการหนัก จะรักษาก่อน ขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครมีศูนย์พักคอยฯ มากกว่า 30 แห่ง รองรับผู้ติดเชื้อได้เกือบ 4,000 เตียง แต่ขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564) ใช้งานจริงเพียงแค่หลักร้อยเท่านั้น ขณะที่ผู้ติดเชื้อในระบบที่ยังคงฝังตัวอยู่ในชุมชนมีอีกกว่า 2,000 ราย ดังนั้นเราจะรอคอยกระบวนการคัดกรองแล้วปล่อยผู้ติดเชื้อให้อยู่ในชุมชนต่อไปไม่ได้ เราต้องรีบนำผู้ติดเชื้อออกมาให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

“จึงต้องสั่งให้ปรับลดข้อกำหนดการนำคนเข้าศูนย์พักคอยคนสาครลงบ้าง เพราะสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงนอกจากความปลอดภัยของผู้ติดเชื้อกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อแล้ว ก็คือบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีอยู่อย่างจำกัด และทำงานแทบไม่มีวันหยุด หลายคนก็ติดเชื้อโควิด กลายเป็นผู้ป่วยไปแล้ว”

ผู้ว่าฯวีระศักดิ์แจงเหตุการตั้งศูนย์พักคอยฯ พร้อมโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า

“ถ้าระเบียบ ทำให้ประชาชนต้องตายเพราะไม่มีที่กักตัว โปรดจงก้าวข้ามระเบียบนั้น แล้วบอกว่า ต้องทำ เพราะผมเป็นคนสั่งเอง ให้มันรู้ไปว่า ระเบียบกับความตาย อะไรสำคัญกว่า”

ผู้ว่าฯปูระบุอีกว่า ที่ผ่านมาจังหวัดสมุทรสาครต่อสู้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด นับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้วนั้น แม้ที่นี่จะมีประสบการณ์ในการสร้างโรงพยาบาลสนาม และการรับมือกับผู้ติดเชื้อโควิดมาก่อน แต่ครั้งนั้นเกิดขึ้นกับแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ และเชื้อไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ พอมาสถานการณ์ครั้งนี้ถือว่ารุนแรงและหนักหน่วงเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปให้ได้ โดยเฉพาะการร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัดสมุทรสาครที่ออกมาบังคับใช้ในพื้นที่สีแดงเข้มข้นให้สอดคล้องกับมาตรการล็อกดาวน์ของ ศบค. เช่น การหยุดการเคลื่อนไหว 14 วัน เพื่อร่วมกันหยุดการแพร่เชื้อโรค เป็นต้น

“วันนี้อยากให้ทุกคนให้ความร่วมมือปฏิบัติเพราะใจอยากทำ ไม่ใช่ทำเพราะถูกบังคับ เพราะหากทุกคนยังคงปล่อยปละละเลย ขาดความร่วมมือร่วมใจกัน จนสถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้อีก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การประกาศปิดจังหวัดในอนาคต ถ้าสิ่งนี้จะเป็นทางรอดสุดท้ายที่สำคัญและจำเป็นต่อชีวิตของพี่น้องชาวจังหวัดสมุทรสาคร” ผู้ว่าฯปูขอร้องชาวสมุทรสาคร พร้อมเตือนว่าหากไม่ร่วมมืออาจต้องล็อกดาวน์เข้มข้นกว่าเดิมอีก

ต้องรอดูว่าชาวสมุทรสาครจะร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตโควิดนี้ไปได้หรือไม่ หริออาจต้องถูกคำสั่งบังคับให้หยุดกิจกรรม/กิจการเพิ่มเติม และให้ประชาชนอยู่แต่ในที่พัก






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.