อบต.ไพศาล จัดอบรม "ธนาคารน้ำใต้ดิน" แก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม
21 ส.ค. 2562, 10:35
ผู้สื่อข่าว ONBnews รายงานว่า จากกรณีในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลไพศาล อำเภอธวัชบุรี 12 หมู่บ้าน ได้มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังในฤดูน้ำมากและแห้งแล้งฝนทิ้งช่วงในระหว่างฤดูฝน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดความเสียหายได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และทำให้เกิดปัญหาน้ำขัง เน่าเสียในชุมชนและในครัวเรือน สิ่งที่มีผลกระทบตามมาอีกคือโรคระบาด เช่นไข้เลือดออก เป็นต้น ปัจจุบันได้เกิดภาวะน้ำใต้ดินแห้งขอดสังเกตได้จากบ่อบาดาลไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ตลอดปี เพราะไม่มีการเติมน้ำธรรมชาติลงไปเก็บไว้ใต้ดิน อาจจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภคในครัวเรือนขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากทุกหมู่บ้านได้นำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภค และการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 นายเลิศบุศย์ กองทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเพิ่มศักยภาพท้องถิ่นการจัดการน้ำตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "ธนาคารน้ำใต้ดิน" ซึ่ง นายสุรสิทธิ์ สุระพินิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไพศาล จัดขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้ชื่อ "ตำบลไพศาลโมเดล" ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลไพศาล อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด มีผู้มาร่วมงานในวันนี้ประกอบด้วยนายกรกฎ บุญญามิ่ง ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอธวัชบุรี คณะผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสา อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ท้องถิ่นอำเภอธวัชบุรี อสม. และแกนนำประชาชนตำบลไพศาล 12 ตำบล รวมทั้งสิ้น 100 คน เข้าร่วมโครงการฯ วัตถุประสงค์เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องแนวคิดและความเป็นมาของการบริหารจัดการน้ำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องประโยชน์และความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ หลักการของการบริหารจัดการน้ำ ขั้นตอนและวิธีการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ร่วมฝึกปฏิบัติการทำระบบบริหารจัดการน้ำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ท้องที่ท้องถิ่นในอำเภอธวัชบุรีได้ร่วมกันทำโครงการนี้ให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมโครงการประกอบด้วย การจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ความเข้าใจการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นายชาตรี ศรีวิชาฐา จากสถาบันวิจัยนิเทศศาสนคุณ จังหวัดอุบลราชธานี การสาธิตและนำฝึกปฏิบัติการการจัดทำ "ธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิด" ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ เพื่อนำน้ำมาใช้สำหรับการอุปโคบริโภคและทำการเกษตร นอกจากนี้มีการแบ่งกลุ่มกำหนดแนวทางขับเคลื่อน "ธนาคารน้ำใต้ดิน" ตลอดจนเปิดโอกาสให้ซักถามและตอบปัญหาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
นายสุรสิทธิ์ สุระพินิจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไพศาล กล่าวว่า ตำบลไพศาลเป็นตำบลที่มีลำห้วยล้อมรอบ แต่ละปีมีทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ดังนั้นจึงมีนโยบายที่จะให้ตำบลไพศาลได้มีการกักเก็บน้ำเพื่อที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะน้ำที่ไหลผ่านคาดว่าหากเราทำธนาคารน้ำเสร็จเราจะได้มีน้ำใช้ในการเกษตรและทำให้พื้นที่ที่เป็นดินเค็มได้เป็นดินที่มีความเหมาะสมในการทำนาข้าว และอีกอย่างหนึ่งในส่วนของการทำน้ำบาดาลตำบลไพศาลไม่สามารถที่จะเจาะน้ำบาดาลได้เพราะข้างล่างเป็นดินเค็มเราก็จะนำน้ำจากธนาคารใต้ดินมาใช้ อีกอย่างก็เป็นวาระของชาติและเป็นวาระของจังหวัดร้อยเอ็ดโดยตำบลไพศาลร่วมกับอำเภอธวัชบุรีก็จะเป็นอำเภอที่จะทำธนาคารน้ำใต้ดินเป็น "ไพศาลโมเดล"
นายสุรสิทธิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของปัญหาภัยแล้งปีนี้หนักมาก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นทางผ่านของน้ำเราจึงได้ร่วมกันทั้ง 12 ตำบลและตำบลใกล้เคียงเพื่อที่จะได้ดึงน้ำใต้ดินมาใช้โดยเฉพาะแม่น้ำชีไหลผ่านก็จะดึงน้ำตัวนี้มาใช้ ด้วย ปัจจุบันพี่น้องชาวบ้านส่วนหนึ่งใช้น้ำกับลำห้วยและก็อีกส่วนมากก็รอน้ำฝนอย่างเดียว ตำบลไพศาลนาข้าวทั้งหมดประมาณ 7 พันกว่าไร่เดือดร้อนมากแม้ฝนตกลงมาแต่ก็ตกปรอยๆไม่มีน้ำทำนาทำการเกษตร ปัจจุบันพี่น้องประชาชนลำบากมาก
คลิป