"กอปภ.ก." สั่ง 19 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 24 - 26 ก.ค. 64
24 ก.ค. 2564, 11:43
วันที่ 24 ก.ค. 64 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 19 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต เฝ้าระวังฝนตกหนัก เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 24 – 26 ก.ค. 64 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาพอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 20 (119/2564) ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า พายุดีเปรสชัน “เจิมปากา” บริเวณชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเล อันดามันตอนบน ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นไปมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 19 จังหวัด เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2564 แยกเป็น
สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 16 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
สถานการณ์คลื่นลมแรง 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอกะเปอร์ และอำเภอสุขสำราญ) พังงา (อำเภอเกาะยาว อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอคุระบุรี และอำเภอท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกระทู้ และอำเภอถลาง)
รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง พร้อมจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานพลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร และจิตอาสาเตรียมพร้อมทรัพยากรให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนรวดเร็วและทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม
อีกทั้ง สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย และหอกระจายข่าว ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปิดสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด สำหรับพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล โดยเพิ่มการติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนภัยบริเวณชายฝั่งทะเล ห้ามการลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเลในช่วงที่คลื่นลมแรง อีกทั้งห้ามการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและคลื่นลมแรง เรือเล็กหรือเรือดาดฟ้าเปิดควรกลับเข้าฝั่งโดยเร็วหรืองดออกจากฝั่ง
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป