ผู้แทนพิเศษรัฐบาลจับมือนายกโก-ลก ดึงผู้ประกอบการซื้อมังคุด หวังพลิกโก-ลกเป็นจันทบุรี 2
24 ก.ค. 2564, 18:28
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็น 1 ใน 13 จังหวัดที่ ศบค.ประกาศล็อกดาวน์เข้มข้น จนสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ไม่สามารถนำผลผลออกสู่ท้องตลาด รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถเข้าไปซื้อหาถึงสวนเหมือนในช่วงทุกๆปีที่ผ่านมา จนขยายผลทำให้ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง มีการซื้อขายกันที่สวนเหลือเพียงกิโลกรัมละ 8 บาท และจำหน่ายตามท้องตลาดเพียงกิโลกรัมละ 15 บาทเท่านั้น
ล่าสุดนายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ได้ร่วมกันสนับสนุนในการดึงผู้ประกอบการอย่างนายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี อดีตนายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย มาทำการเปิดศูนย์กลางตลาดรับซื้อผลไม้ ที่ดัดแปลงอาคารสำหรับจำหน่ายไม้แปรรูป เลขที่ 76/2 ม.3 บ้านลูโบะฆง ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดในพื้นที่ 13 อำเภอ นำมาจำหน่ายในราคาคัดเกรด โดยเกรด 1 รับซื้อกิโลกรัมละ 25 บาท เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังคุนหมิง ประเทศจีน ส่วนเกรด 2 รับซื้อกิโลกรัมละ 11 บาท เพื่อส่งจำหน่ายห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส และเกรด 3 รับซื้อกิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อส่งจำหน่ายยังตลาดไท จ.ปทุมธานี ในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่มีเกษตรกรนำมังคุดมาจำหน่ายวันละ 30 ถึง 40 ตัน ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงถึงวันละ 60 ตันขึ้นไป
นอกจากนี้ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพในทางอ้อม จากการนำมังคุดออกมาจำหน่าย ที่ได้พบเห็นการคัดแยกมังคุดหากมีคุณภาพจะได้ราคาสูง แทนที่จะปลูกแบบทิ้งขว้าง ไม่ได้รับการดูแลคิดเป็นร้อยละ 90 ในพื้นที่ทั้งจังหวัด เมื่อออกผลผลิตเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวมาจำหน่าย ซึ่งจะถูกพ่อค้าแม่ค้ากดราคาในทุกปีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปีต่อๆไปคาดว่าเกษตรกรจะพัฒนาคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอำเภอสุไหงโก-ลกกลายเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตร ศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้ จ.จันทบุรี แห่งที่ 2 ของประเทศไทย
ด้านนายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเปิดศูนย์กลางตลาดรับซื้อผลไม้ในครั้งนี้ นอกจากเกษตรกรจะได้ราคาแล้วยังได้มีการจ้างงานอีกกว่า 2,500 คน ตั้งแต่การรับจ้างเก็บเกี่ยวการคัดเกรดและการขนส่ง และยังเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรต่อไปต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผลไม้ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนผลไม้ถือว่าคุณภาพเป็นอันดับแรก ซึ่งคนที่บริโภคเขาดูเรื่องคุณภาพและเกรด
ด้าน นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี อดีตนายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยให้การช่วยเหลือในเรื่องของการขนส่งและการคัดแยก แต่ในวันนี้ถ้าภาครัฐให้การช่วยเหลือเราได้มีการจัดการระบบขนส่งที่ดี เราก็สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ราคาดีตามไปด้วย เพราะประสิทธิภาพการซื้อเราสามารถผลัดดันปริมาณในการบริโภคของประชาชนให้สูงขึ้นได้
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม นายสหัฟย์ พินพิมาย ประธานวิสาหากิจชุมชนมังคุด อ.สุคิริน ได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับนายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่จะเดินทางกลับ ว่า ขณะนี้เกษตรกรมีปัญหาในเรื่องของการนำมังคุดออกมาจำหน่ายต่างพื้นที่อำเภอ เนื่องจากอยู่ในช่วงการล็อกดาวน์และปัญหาในเรื่องของเคอร์ฟืว ที่เกษตรกรต้องบรรทุกสินค้าผ่านด่านตรวจ ที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เกษตรกรผ่านด่านตรวจได้เพียงครั้งละ 3 วัน ที่สร้างความยุ่งยากให้เกษตรกรต้องเสียเวลาเก็บเกี่ยวแล้ว ยังต้องเสียเวลาไปขออนุญาตผ่านเส้นทางระหว่างอำเภออีก จึงต้องการให้ผู้แทนของรัฐบาลฯหาแนวทางผ่อนปรนให้กับเกษตรกร ด้วยการออกหนังสือผ่านด่านแบบเฉพาะกิจ หรือ ออกหนังสืออนุญาตให้เกษตรนำผลผลิตออกมาจำหน่ายจนหมดฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ หรือ ด้วยวิธีใดก็ได้ในการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร ซึ่งผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้รับเรื่องราวดังกล่าวพร้อมรับปากจะนำไปหาทางช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วนแล้ว