กทม. ร่วมมือ รฟท. แปลงตู้รถไฟ 15 คัน เป็นจุดพักคอยผู้ป่วยโควิด-19
27 ก.ค. 2564, 14:31
วันที่ 27 ก.ค. 64 รายงานจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพหมานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงซ่อมตู้รถไฟประจำวัน (ย่านสถานีกลางบางซื่อ) เพื่อร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมทำศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation รองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติม โดยจะนำตู้รถไฟ ประเภทรถนอนชั้น 2 จำนวน 15 คัน ที่ขณะนี้ไม่มีการเดินทาง มาใช้เป็นที่พักของผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงซ่อมตู้รถไฟประจำวัน (ย่านสถานีกลางบางซื่อ) เนื่องจากมีอากาศถ่ายเทและปลอดโปร่ง สามารถนอนได้คันละ 16 เตียง รวมเป็น 240 เตียง โดยทาง รฟท. จะนำมุ้งลวดมาติดให้ และเชื่อมระบบไฟฟ้า-น้ำประปา ส่วน กทม. จะนำรถอาบน้ำและรถสุขาเคลื่อนที่มาให้บริการ คาดเริ่มเปิดใช้งานได้ในวันศุกร์ที่ 30 ก.ค. นี้ และหากมีที่อื่นๆ เหมาะสม ก็จะจัดทำเป็นศูนย์พักคอยเพิ่มเติมต่อไป เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ยังมีจำนวนมาก
ส่วนการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. ได้ดำเนินการมานานกว่า 3 เดือนแล้ว โดยมีทั้งการตรวจแบบสวอป RT-PCR และตรวจแบบ Antigen rapid Test Kits (ATK) ซึ่งจะมีรถตรวจสวอป RT-PCR ประจำจุดไว้ด้วย 1 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจซ้ำได้ทันทีในกรณีที่ผลเป็นบวก ก่อนจะสอบถามความสมัครใจของผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเขียว ว่า ต้องการเข้าพักรักษาตัวที่บ้าน หรือจุดพักคอยฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ ในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก และยาอื่นๆ ด้วย
ขณะเดียวกัน การเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ กทม. ขณะนี้ครอบคลุมแล้วกว่า 60% คาดจะครบ 70% ภายในสิ้นเดือนนี้ โดยวัคซีนที่ได้รับความอนุเคราะห์จากนายอทุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 500,000 โดส ขณะนี้นำไปฉีดเชิงรุกแล้วราว 60,000 โดส และฉีดที่จุดฉีดวัคซีนของกทม. 25 จุด อีก 200,000 โดส คงเหลืออยู่ราว 250,000 โดส ซึ่งภายสิ้นเดือนนี้ก็น่าจะฉีดได้หมด
ส่วนการฉีดวัคซีนผู้อายุ 60 ขึ้นไป กับกลุ่มเสี่ยง 7 โรค และคนท้อง 3 เดือน ซึ่งมีอยู่ราว 1.3 ล้านคน ขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ล้านคน คาดฉีดอีก 3 วันก็ครบทั้งหมด ยกเว้นประชาชนบางส่วนที่อาจไม่สมัครใจฉัดวัคซีน
ส่วนกระแสข่าวที่จะมีการยุบจึดฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ แล้วให้ทาง กทม. เป็นผู้ดูแล ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก กทม. มีบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ โดยโรงพยาบาลในสังกัดกทม. 11 แห่ง สามารถดูแลได้เพียง 6-7 จุดฉีดเท่านั้น ที่เหลือต้องอาศัยความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชน ทำให้สถานีกลางบางซื่อต้องเปิดฉีดวัคซีนตามเดิมไปเรื่อยๆ.