กรมการขนส่งฯ เผยมาตรการช่วยเหลืออาชีพแท็กซี่ ได้รับผลกระทบโควิด
27 ก.ค. 2564, 14:41
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 นายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจ กรณีผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ สมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย นำโดยนายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมฯ ได้นำรถแท็กซี่สหกรณ์ราชพฤกษ์ จำกัด และกลุ่มบวรแท็กซี่ จำนวนกว่า 100 คัน มาจอดที่หน้ากระทรวงพลังงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และขอให้จัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพฉีดให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม และทั่วถึงโดยเร็วที่สุด นั้น
กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มิได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของผู้ขับรถแท็กซี่ ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่แล้ว ได้แก่ การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีทางเลือกอื่นติดตามรถแทน GPS การพัฒนา Application เรียกใช้บริการรถแท็กซี่ เปิดโอกาสให้มีการติดตั้งสื่อโฆษณาบนแท็กซี่ การกำหนดค่าสัมภาระเพิ่มเติมให้กับแท็กซี่สนามบิน เป็นต้น โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพและเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ของผู้ขับรถแท็กซี่ เพื่อการพัฒนาบริการรถสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัย
ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดหาวัคซีนโควิด-19 นั้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้นำผู้ขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้าภาคการขนส่งสาธารณะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ สถานีกลางบางซื่อ เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันร่วมป้องกันการแพร่ระบาด ช่วยเหลือผู้ขับรถให้ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพเพื่อป้องกันตนเอง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2564 โดยดำเนินการให้ผู้ขับรถแท็กซี่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว จำนวน 18,427 คน ทั้งนี้ ขบ. ได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถานีกลางบางซื่อ ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่รวมถึงผู้ขับรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น ๆ สามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมในช่วงดังกล่าวได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย ลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป
นอกจากนี้ ขบ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดหาอุปกรณ์กั้นระหว่างที่นั่งผู้ขับรถกับคนโดยสาร (Partition) ในรถแท็กซี่ เพื่อช่วยป้องกันการกระจายของละอองฝอยจากการไอหรือจามซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสร้างความมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ โดยระยะแรก คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2564 สำหรับจัดทำฉากกั้นจำนวน 3,000 ชิ้น เพื่อติดในแท็กซี่กลุ่มตัวอย่าง จากนั้นจะมีการประเมินผลเพื่อพิจารณาขยายผลการดำเนินการต่อไป