เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



อนุทิน ลุย สุรินทร์ เยี่ยมบุคลากรทางแพทย์ ย้ำความจำเป็นฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ


31 ก.ค. 2564, 17:47



อนุทิน ลุย สุรินทร์ เยี่ยมบุคลากรทางแพทย์ ย้ำความจำเป็นฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ




วันนี้(31 ก.ค.2564)เวลา 10.00 น.ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ห้องประชุมกุญชรศุภศรี ชั้น 9 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโค่โรนา 2019 (COVID - 19)โดยมี นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย นายสินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ นายแพทย์ ประวีณ ตัณฑประภา ผอ.โรงพยาบาลสุรินทร์ นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุรินทร์ เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)นายพรชัย มุ่งเจริญพร นายก อบจ.สุรินทร์ ให้การต้อนรับ

 




นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ยินดี ที่ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ของจังหวัดสุรินทร์ ในวันนี้ ซึ่งสถานการณ์ฯ จังหวัดสุรินทร์ ระลอกใหม่นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2564มีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 3,803 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,882 ราย หายป่วย 2,006 ราย และเสียชีวิต 5 ราย มีผู้ป่วยรักษาที่โรงพยาบาลสนาม 439 ราย สำหรับ การดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของจังหวัดสุรินทร์ โดยสรุป ดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.กำหนด จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับฝ่ายการสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน จังหวัดสุรินทร์ได้จัดตั้งศูนย์กักกันตัวเพื่อสังเกตอาการ : LQ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ จำนวน 876 แห่ง รองรับได้ 12,021 คน คงเหลือ 9,197 คน จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม จำนวน 9 แห่ง 527 เตียง เตียงว่าง 88 เตียง จัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน หรือศูนย์พักคอย หรือศูนย์ดูแลโควิดชุมชน : CI จำนวน 266 แห่ง กระจายในท้องที่อำเภอ สามารถรองรับได้ 4,811 คน เตียงว่าง 3,943 เตียง

และเมื่อเกิดสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพ รวมถึงจังหวัด

อื่นๆ ซึ่งมีคนสุรินทร์ที่ไปใช้แรงงานเป็นผู้ติดเชื้อด้วย มีการสอบถามขอกลับมารักษาตัวในภูมิลำเนา ได้กำหนดแนวทางในการช่วยเหลือคนสุรินทร์ ที่ติดเชื้ออยู่นอกจังหวัด เพื่อกลับเข้ามารักษาตัวในภูมิลำเนา โดยมีการดำเนินการ 3 ระยะ ระยะแรก ประกาศ "สุรินทร์พร้อม" มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ เป็นเจ้าภาพหลัก ปฏิบัติการร่วมกับสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งในจังหวัดสุรินทร์ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาล ระยะที่สอง ประกาศ "ศูนย์บริหารแรกรับคนสุรินทร์กลับบ้าน SURIN BACK HOME" โดยจัดตั้ง


 


ศูนย์ปฏิบัติงานรับ-ส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ณ ศูนย์ศิลปาชีพอีสานใต้ โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด สุรินทร์ เป็นเจ้าภาพหลัก มีเคสผู้ป่วยยืนยันผ่านศูนย์ฯ 157 ราย ระยะที่สาม ประกาศ "ปฏิบัติการ...หมู่บ้านนี้ ไม่มี โควิต - 19" เพื่อสืบค้นข้อมูลในเชิงพื้นที่ ใช้ใน การบริหารสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด จะมอบ "ธง" สีฟ้า สื่อสัญลักษณ์ แสดงข้อมูลสถานการณ์โรคโควิด - 19 ของพื้นที่หมู่บ้าน โดยมีประชาชน ชุมชน มีส่วนร่วม ในการฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากการสืบค้นข้อมูลเชิงพื้นที่ เบื้องต้น พบ "หมู่บ้าน ไม่มี โควิด - 19 จำนวน 1,161 หมู่บ้าน"

พร้อมทั้ง ส่งเสริมการปลูกและใช้พืชสมุนไพร เพื่อการป้องกันและ รักษาโรคโควิด 19 จัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน มีการสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันโควิด 19 ต่อเนื่องทุกวัน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเดินทางมาที่ โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ อสม.ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโคโรนา หรือ โควิด-19 ซึ่งทุกท่านทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยเหลือดูแลรักษา พี่น้องประชาชน ทั้งในพื้นที่จังหวัดและเดินทางกลับจากที่ทำงานมารักษาตัวยังจังหวัดบ้านเกิด ซึ่งก็ยังย้ำเน้นว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเชื้อโควิดแพร่กระจายด้วยความรุนแรง มีการกลายพันธุ์ติดเชื้อเดลต้า ซึ่งติดง่าย ลุกลามง่าย และผู้ที่ติดแล้วมีความเสี่ยงที่สุดโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก ตลอดจนผู้มีโรคประจำตัวหลายๆโรค ซึ่งการประชุมในคณะกรรมการ และทางวิชาการ ต้องเร่งการฉีดให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป กลุ่มเสี่ยง 608 ให้มากให้เร็วที่สุดก่อน ไม่ใช่ว่าไม่เห็นความจำเป็นของประชาชนกลุ่มอื่น แต่เราต้องหยุดให้ได้ ของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ในบรรดาผู้เสียชีวิตมากกว่า 80% อยู่ในกลุ่มนี้ และผลการศึกษา เขาก็ระบุว่า วัคซีน ไม่ใช่ป้องกันการติดเชื้อ แต่วัคซีนป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกัน บางคนบอกว่า คนหนุ่มสาว ไม่ติดเชื้อเหรอ ทุกคนมีสิทธิ์ติดเชื้อด้วยกันทั้งนั้น แต่กลุ่มเสี่ยง 608 ไปเร็วกว่า ซึ่งกลุ่ม 608 ถ้าป่วย จะมีผลกระทบ ต้องใช้เตียงโรงพยาบาล ต้องใช้เตียง ไอชียู ต้องใช้อุปกรณ์เวชภัณฑ์ ทุกอย่าง

จากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบวัคซีน จำนวน 10,000 โด๊ส เพื่อทำการฉีดให้แก่กลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ยังมี อสม.ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกว่า 10,000 คน และคาดว่า ในเดือนสิงหาคมนี้ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ อสม.จะได้รับการฉีกวัคซีนครบทุกคน

 







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.