ศบค.มท.สั่งทุกจว.ปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ-คำสั่งศบค.ล่าสุด พร้อมสร้างการรับรู้ลดเสี่ยงโควิด
2 ส.ค. 2564, 11:33
วันนี้ (2 ส.ค.64) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 ส.ค. 64 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 ส.ค. 64 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 64 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประสานกรุงเทพมหานคร และสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดรับทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ และคำสั่งฯ ดังกล่าว โดยเคร่งครัด พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับว่า มาตรการตามข้อกำหนดดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชน และการรวมกลุ่มของบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) โดยสำหรับจังหวัดที่ได้ปรับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ขึ้นใหม่ตามคำสั่งฯ ให้เตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเพื่อการดำเนินการตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติต่าง ๆ เป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง ให้ดำเนินการ 1) ให้ประชาชนเลี่ยง จำกัด หรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น เพื่อลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่ง พึงใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตนเองตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด 2) ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 - 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น นับแต่วันที่ข้อกำหนดฯ ฉบับนี้ใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 64 กรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนด ให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรแสดงตนอย่างอื่น และเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้า บริการ การเดินทาง หรือหลักฐานอื่น ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และในกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากบุคคลที่ได้รับการยกเว้น ให้ขอเอกสารรับรองความจำเป็นฯ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3) ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐสั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด รวมทั้งให้งดการจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก ในส่วนของภาคเอกชน ให้ทำความเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรของสถานประกอบการ บริษัท ปฏิบัติตามมาตรการเช่นเดียวกัน 4) ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงตามที่กำหนดในข้อ 7 ของข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 ก.ค. 64 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 64 สำหรับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น 5) พิจารณาจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดในเส้นทางคมนาคม ข้ามเขตจังหวัด และการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่น เพื่อการตรวจคัดกรอง ชะลอ หรือสกัดกั้นการเดินทางของบุคคล โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับจังหวัดพื้นที่รอยต่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด และประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความมุ่งหมายของมาตรการและกรณีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดไปยังพื้นที่อื่น ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองการเดินทางและมาตรการที่จะกำหนดขึ้นดังกล่าว ต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) ในด้านมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง กลุ่มแรงงานก่อสร้างให้พิจารณาปรับมาตรการเพื่อให้พื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร สถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงาน งานก่อสร้างสำหรับอาคารประเภทอาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารที่อยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือโครงการจัดสรรทุกประเภท ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงานซึ่งได้เคยมีประกาศหรือคำสั่งให้ปิดสถานที่หรือหยุดดำเนินการ หรือเคยได้รับการผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข แต่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ตามมาตรฐานทางสาธารณสุข หรือได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้สถานที่มีสภาวะที่ถูกสุขลักษณะแล้ว ให้เปิดหรือดำเนินการได้โดยใช้มาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) และให้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการคัดกรองการเดินทางเข้าออกของแรงงานก่อสร้างที่เดินทางข้ามเขตจังหวัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สำหรับทุกจังหวัด ให้เน้นย้ำ 1) สร้างการรับรู้ประชาชนปฏิบัติมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเข้มข้น ได้แก่ รักษาระยะห่างระหว่างกัน ไม่พบปะหรือไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก การสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือสม่ำเสมอ ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจเชื้อโรคโควิด - 19 ใช้แอปหมอชนะ/ไทยชนะ ด้วยทุกกลไกในระดับพื้นที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หอกระจายข่าว และเสียงตามสายในพื้นที่ 2) ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 30) เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยกรณีกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้จัดกิจกรรมได้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 3) มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างทั่วราชอาณาจักร ให้ทุกจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล) พิจารณานำมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มาใช้บังคับ และ 4) มาตรการเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบกิจการหรือโรงงาน ให้พิจารณานำมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มาใช้บังคับ
นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวางระบบ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมอบหมาย ศปก.จังหวัด ศปก.อำเภอ ศปก.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ประกาศ หรือคำสั่งจังหวัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีมติให้ออกประกาศหรือคำสั่ง ให้ส่งประกาศหรือคำสั่งให้ ศบค.มท. ทราบโดยเร็ว เพื่อรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้รับทราบประกาศหรือคำสั่งโดยทั่วกัน