"ผู้ตรวจฯ" เปิดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในโครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ผู้ต้องขัง”
22 ส.ค. 2562, 09:20
วันที่ 22 สิงหาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONBNEWS รายงานว่า นายอภิญญา สุจริตตานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เข้าตรวจเยี่ยมโรงงานในเรือนจำจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในโครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ผู้ต้องขัง” ร่วมกับผู้ประกอบการสมาชิกสมาพันธ์ SME ไทยจังหวัดพะเยา 3 สาขาอาชีพ (ฝึกให้ผู้ต้องขังระหว่างรับโทษ) ได้แก่ ฝึกอาชีพเสริมสาขาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ร่วมกับบริษัทเต็ม เต็มจำกัด ระหว่างวันที่ 13 – 15 สิงหาคม 2562 สาขาการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้ด้วยเทคโนโลยีร่วมกับร้านองศางานไม้ดีไซน์ ระหว่างวันที่ 21-27 สิงหาคม 2562 และฝึกเตรียมเข้าทำงาน สาขาช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม 280 ชั่วโมง ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด นรินทร์ทรัพย์ ระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม – 6 พฤศจิกายน 2562 และฝึกอาชีพเสริมให้ผู้ใกล้พ้นโทษ 1 สาขา ได้แก่สาขาช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ระหว่างวันที่ 19 – 23 สิงหาคม 2562 พร้อมทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 ระหว่างวันที่ 26 – 27 สิงหาคม 2562 รวม 4 สาขาอาชีพ จำนวน 100 คน ณ เรือนจำจังหวัดพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา โดยมีนายไพรัตน์ ขมินทกูล ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยนายสุวรา พงศ์ปัญญาเนตร แรงงานจังหวัดพะเยา และนายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา ร่วมต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการนี้ เป็นผลสำเร็จจากบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือการสนับสนุนส่งเสริมการฝึกอาชีพ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ระหว่างเรือนจำจังหวัดพะเยา สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา และสถานประกอบกิจการ 7 แห่ง ได้แก่ ร้านแสนสุข คาร์แคร์ วิสาหกิจชุมชนเกษตรสวนผสมหลังมอ ร้านล้านนาถ่านอัดแท่ง ร้าน ฟ.การเกษตร ห้างหุ้นส่วนจำกัดนรินทร์ทรัพย์ บริษัทเต็ม เต็ม จำกัด และร้านองศางานไม้ดีไซน์ ซึ่งมุ่งเน้นสร้างโอกาส และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ต้องขังผ่านกระบวนการฝึกอาชีพ แล้วนำงานเข้ามาจ้างผู้ต้องขังที่ได้ผ่านการฝึกทำในรูปแบบ “โรงงานในเรือนจำ” เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ผู้ต้องขังระหว่างรับโทษ โดยเฉพาะแรงงานผู้ต้องขังที่ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย และช่างเครื่องเรือนไม้ ระดับ 1 ซึ่งเป็นแรงงานคุณภาพ (super worker) จึงเป็นการให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดได้ปรับปรุงตนเอง ส่งเสริมคนดีสู่สังคม รวมทั้ง เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ถือเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ผู้ต้องขัง เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำงาน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน สามารถประกอบอาชีพอิสระ หรือเป็นลูกจ้างในสถานประกอบกิจการได้ภายหลังพ้นโทษและกลับสู่สังคม