เปิดแล้ว โคราชใช้โรงแรมฟอร์จูน เป็น State Quarantine กักตัวกลุ่มเสี่ยง
6 ส.ค. 2564, 12:15
วานนี้ 5 สิงหาคม นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครราชสีมา และนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ดำเนินงานในสถานที่กักกันตน เทศบาลนครนครราชสีมา State Quarantine หรือ SQ ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลนครนครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
โดยใช้โรงแรมฟอร์จูน อ.เมืองนครราชสีมา กักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง ผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และผู้ที่ผ่านการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อป้องกันยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 50(4) ในการป้องกัน และระงับโรคติตต่อ และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ประกาศ ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีการประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อประโยชน์ในการเผ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย
ซึ่งนายกอบชัย กล่าวว่า สถานที่กักกันตัว State Quarantine เทศบาลนครนครราชสีมาแห่งนี้ ใช้เป็นสถานที่แยกตัวกลุ่มเสี่ยงสูง และศูนย์พักคอยผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 สามารถรองรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวตามหลักเกณฑ์ ได้ 120 เตียง มีการวางมาตรการตามหลักสาธารณสุขอย่างเข้มข้น ซึ่งผู้ที่เข้าพักจะเป็นผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 แต่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน และหากผลตรวจออกมาพบเชื้อจะรีบส่งรักษาโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาทันที ถือว่าเป็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชน ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
“ส่วนมาตรการล็อกดาวน์ในจังหวัดนครราชสีมา ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นมาตรการที่จะเพิ่มพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมการเดินทางโดยไม่จำเป็นของประชาชน โดยส่วนตัวมั่นใจว่า มาตรการที่ออกมาสำหรับในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาได้ผล เพราะจะลดกิจกรรมที่ใกล้ชิดกันสัมผัสกันของกลุ่มคนทั่วไป หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเอง ถ้าดูจากจำนวนผู้ป่วยรายวัน ถึงแม้จำนวนตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้น แต่หากดูในรายละเอียดจำนวนผู้ป่วย จะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากกลุ่มเสี่ยง และผู้ป่วยที่ขอกลับมารับการรักษาที่จังหวัดนครราชสีมา กับกลุ่มผู้ป่วยที่สัมผัสผู้ป่วยจากพื้นที่เสี่ยง ส่วนผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการระบาดในพื้นที่มีจำนวนคงที่ อย่างไรก็ตาม จำเป็นจะต้องเร่งควบคุมการระบาดในคลัสเตอร์ต่างๆ ให้ได้ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ในโรงงานหรือสถานประกอบการ ซึ่งที่ขณะนี้มีอยู่หลายคลัสเตอร์ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ แต่ทีมสาธารณสุขของจังหวัดได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว”