ศาลแพ่ง มีคำสั่งห้าม นายกฯ บังคับใช้ข้อกำหนดที่ 29 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการชั่วคราว ตามที่สื่อ-ประชาชนยื่นฟ้อง
6 ส.ค. 2564, 15:36
วันที่ 6 ส.ค.64 ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวคดีหมายเลขดำ พ.3618/2564 ที่ภาคีนักกฎหมาย และตัวแทนสื่อมวลชนออนไลน์ อย่างน้อย 12 รายยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้ถอนคำสั่งการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อกำหนดที่ 29 ให้อำนาจ กสทช.ตัดอินเตอร์เน็ต ดำเนินคดีกับสื่อออนไลน์ กรณีเฟกนิวส์
โดยศาลชี้ว่า ข้อกำหนดที่หนึ่ง ใน พ.ร.ก.ฉบับที่ 29 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวมิได้ จำกัด เฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าวย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชนที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกำหนดฯ ที่ระบุว่าจำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผลถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
ตามข้อกำหนดข้อดังกล่าวนั้นมีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้างทำให้โจทก์ทั้งสิบสอง ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้
นอกจากนี้ยังเป็นการ จำกัด สิทธิ และ เสรีภาพ ของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุไม่ต้องด้วยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสิบสองหรือประชาชนเกินสมควรแก่เหตุตามความในมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 255
ส่วนข้อกำหนดส่วนข้อสอง ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ศาลจึงเห็นว่า นายกฯ ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ในการออกข้อกำหนดที่ปิดอินเทอร์เน็ต หรือ IP Address
นอกจากนี้ ศาลยังระบุว่า หากจะมีคำสั่งดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความ หรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางต่างๆ รัฐมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับที่จะจัดการได้ด้วย และควรใช้สื่อ ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วย