จนท.ป่าไม้ - ที่ดิน นำหมายค้นศาล เข้าตรวจสอบภูไพรธารน้ำ รีสอร์ท จ.กาญจนบุรี หลังอดีตรอง ผกก. ยื่นหนังสือร้องเรียน
7 ส.ค. 2564, 06:49
วันนี้ 6 ส.ค.2564 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ขออนุมัติหมายค้นศาลจังหวัดทองผาภูมิ เพื่อขอเข้าตรวจค้นสถานที่บริเวณโฉนดที่ดินเลขที่ 7783 ด้านติดกับแม่น้ำแควน้อย จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบนายประสิทธิ์ วัฒนมงคล ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ดูแลภูไพรธารน้ำ รีสอร์ท และได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งสภาพปัจจุบันได้ทำเป็นสวนหย่อมปลูกปาล์มหลายชนิด และทำทางเท้าปูด้วยหินแผ่น
จากการรังวัดหมายแนวเขตโฉดที่ดินเดิม โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี สาขาทองผาภูมิ เจ้าหน้าที่จึงได้จับพิกัดบริเวณที่ดินที่อ้างว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งจากโฉนดเดิมพบว่ามีความยาว 326 เมตร กว้าง 10-36 เมตร เนื้อที่ 4-2-72 ไร่ (7489 ตารางเมตร) พื้นที่มีสภาพเป็นหินก้อนขนาดเล็กใหญ่กองทับกันสูงขึ้นมาเหนือน้ำ และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง พบว่าพื้นที่เป็นน้ำมาตลอด ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน จึงเชื่อได้ว่าเป็นการทิ้งหินถมดินลงในแม่น้ำแควน้อย
พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่ที่ตรวจสอบเนื้อที่ 4-2-72 ไร่ เดิมเป็นแม่น้ำแควน้อย ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ และเป็นป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ดังนั้น การทิ้งหินถมดิน การปลูกต้นไม้ ทำสวนหย่อม และทำทางเท้าปูด้วยหินแผ่น จึงมีลักษณะเป็นการปลูกสร้าง สิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำแควน้อย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าฯ ตามคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 มาตรา 117 วรรคหนึ่ง และมาตรา 119 พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9
พร้อมบันทึกเรื่องราว และเอกสารหลักฐาน นำร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองกำกับการ ๕ บก.ปทส. เพื่อให้ดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ได้ขออนุญาตทิ้งหินกันน้ำกัดเซาะความยาวประมาณ 100 เมตร บริเวณหน้าที่ดิน น.ส. 3 ก. ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 7783 โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 3 สาขากาญจนบุรี อนุญาตให้ทำในแนวเขตที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง
ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ได้ยื่นขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน “ที่งอกริมตลิ่ง” เนื้อที่ 3-2-41.2 ไร่ หน้าโฉนดที่ดิน เลขที่ 7783 และขอยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่ง ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550
วันที่ 10 เมษายน 2551 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ส่วนล่างติดแม่น้ำแควน้อย ยาวประมาณ 200 เมตร กับแนวโฉนดที่ดิน โดยเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศพบว่า บริเวณพื้นที่ชายน้ำไม่มีอยู่ จึงน่าจะเป็นการถมดินออกมา สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 3 สาขากาญจนบุรี จึงได้มีหนังสือแจ้งให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำออกไป ภายใน 30 วัน แต่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้เพิกถอนหนังสือฉบับดังกล่าว
วันที่ 27 สิงหาคม 2552 เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจยึดที่ดินพิพาท เนื้อที่ 3-2-34 ไร่ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และได้แจ้งความไว้ที่ สภ.ทองผาภูมิ โดยพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ทุกข้อกล่าวหา
วันที่ 18 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาตามที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ฟ้องคดี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งหัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 3 สาขากาญจนบุรี ในฐานะ “เจ้าท่า” ที่ให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำออกไป ภายใน 30 วัน แต่ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง
ต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าตามศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน เนื่องจากได้วินิจฉัยว่า ที่ดินบางส่วนที่อยู่นอกโฉนดของผู้ฟ้องคดี อ้างว่าเป็นที่งอกริมตลิ่งนั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างว่ากระแสน้ำในแม่น้ำแควน้อยมีความรุนแรงและเชี่ยวกราก กัดเซาะที่ดินริมตลิ่ง จึงขออนุญาตทิ้งหินกันน้ำเซาะ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะเกิดที่งอกริมตลิ่งออกจากที่ดิน แต่เป็นที่ดินที่ได้ถมลงไปในแม่น้ำแควน้อย และเมื่อได้ปลูกต้นไม้ ทำสวนหย่อม และทำทางเท้า การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการปลูกสร้าง ล่วงล้ำแม่น้ำ ไม่ใช่เป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามที่ได้รับอนุญาต จึงเป็นการกระทำล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำแควน้อย และที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยสภาพ ประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน กล่าวคือเป็นทางน้ำหรือที่ชายตลิ่ง