เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



จันทบุรี จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ


22 ส.ค. 2562, 18:55



จันทบุรี จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ




วันที่ 22 สิงหาคม 2562 เวลา 14.00 น. ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่บริเวณสวนป่าสถานีวิจัยเขาสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในกิจกรรมปลูกต้นไม้และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นกิจกรรม 1 ใน 86 โครงการจากทั่วประเทศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับพระราชวินิจฉัยให้ใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยถูกต้อง ที่ดำเนินการเพียงแห่งเดียวในจังหวัดจันทบุรี โดยเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาคีเครือข่าย พร้อมหน่วยงานในพื้นที่ เช่น ทหาร ฝ่ายปกครอง ครูนักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วัตถุประสงค์ของโครงการที่มุ่งการแก้ปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม โดยให้คนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เพราะปัญหาดังกล่าวนี้ได้ทวีความรุนแรงเป็นปัญหาต่อพี่น้องชาวจังหวัดจันทบุรีเป็นอย่างมาก

 

 

ซึ่งสถานีวิจัยเขาสอยดาวมีความต้องการให้พื้นที่สวนป่าสักและบริเวณที่ยังมีสภาพเป็นป่าไม้กว่า 2,000 ไร่ เป็นแหล่งที่สมบูรณ์ไปด้วยพืชอาหารของสัตว์ป่า เพื่อเป็นแหล่งหากินของช้างป่า เป็นที่พักพิงแบบชั่วคราว จากการผลักออกเมื่อบุกรุกพื้นที่ของชุมชน ซึ่งจะทำให้ช้างป่ามีอาหารกินปลอดภัยขึ้นในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถลดความก้าวร้าวลง ส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้น ก่อนที่จะมีการเคลื่อนตัวไปยังป่าผืนใหญ่ในเทือกเขาสอยดาวต่อไป โดยปลูกต้นไม้ที่ช้างป่ากิน เช่น เต่ารั้ง ไผ่ชนิดต่างๆ กล้วย หมาก หญ้าเนเปียร์ เป็นต้น อีกทั้งสถานีวนวัฒนวิจัยเขาสอยดาว ต้องการนำเสนอเพื่อเป็นแหล่งสาธิตการปลูกไม้ป่าที่ช้างป่าไม่กินและไม่ทำลาย ได้แก่ ฝาง ชะมวง เทพทาโร มะดันแดง จันทน์ชะมด มะขามป้อม ผักหวานป่า แล้วสามารถนำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ในรูปแบบของอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค โดยมีองค์กรภาคีเครือข่ายคือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) นำร่องในการส่งเสริมการปลูกและรับซื้อวัตถุดิบเพื่อแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อการค้าไปแล้ว สามารถเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่ประยุกต์ใช้การจัดการที่ดินในรูปแบบการปลูกต้นไม้แบบผสมผสาน เพื่อสร้างรายได้โดยลดปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ อีกทั้งแนวทางดังกล่าวนี้สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ของสถานีและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกแก่คนในพื้นที่ทุกสาขาอาชีพ ด้วยความเหมาะสมเชิงยุทธภูมิของการท่องเที่ยว ความสำคัญของคนและช้างป่า ต้องการให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและเป็นปกติ

 

 

 



 

 

 

 

 

 

 

 







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.