เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



เปิดแล้ว! รพ.สนามราชานุกูล รักษาโควิด-19 สำหรับเด็กพิเศษและครอบครัว


16 ส.ค. 2564, 15:46



เปิดแล้ว! รพ.สนามราชานุกูล รักษาโควิด-19 สำหรับเด็กพิเศษและครอบครัว




แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าโรงพยาบาลสนามราชานุกูล เพื่อเด็กพิเศษและครอบครัวได้จัดตั้งภายในสถาบันราชานุกูลใช้พื้นที่บริเวณโรงเรียนราชานุกูล 2 อาคาร เบื้องต้นสามารถ รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 100 เตียง ถือเป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะเด็กพิเศษ และครอบครัวแห่งแรกที่ติดเชื้อโควิดแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยซึ่งจะให้การดูแลเด็กพิเศษอายุ 3-13 ปี พร้อมสมาชิกในครอบครัวที่อายุไม่เกิน 60 ปี  

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดและการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยรอบที่ 3 มีเด็กและวัยรุ่น เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 14 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศไทยสาเหตุมาจากรูปแบบการแพร่ระบาดเปลี่ยนจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง  คลัสเตอร์แรงงานมาเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัวแทน 

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวย้ำว่าเด็กพิเศษเมื่อเจ็บป่วยต้องได้รับความรักและความใส่ใจจากคนใกล้ชิดร่วมกับทีมแพทย์ โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จึงมีความพิเศษที่จัดรูปแบบการรักษาใกล้เคียงกับบ้านให้มากที่สุดทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ที่เด็กคุ้นเคย



ด้านแพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวถึงความสำเร็จของการตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ว่าเป็นการประสานความร่วมมือหลายภาคส่วนประกอบด้วยกรุงเทพมหานครสนับสนุนด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมให้ได้ มาตรฐานบับเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble & Sealed) ภาคเอกชนสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่าง รักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม อาทิโปรแกรมแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ระบบกรองเชื้อระบายอากาศ เครื่องฆ่าเชื้อยูวีซี ประจำห้องเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อและฆ่าเชื้อและโปรแกรมครอบครัวแห่งสติเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันทางใจ

ขณะที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำหน้าที่ ในการประสานส่งต่อและให้ความช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการในระหว่างที่เด็กพิเศษและครอบครัวพักรักษาตัว อยู่ในโรงพยาบาลสนามรวมทั้งแผนการให้ความช่วยเหลือและติดตามภายหลังหายจากอาการป่วยและปลอดเชื้อโควิดเดินทาง กลับสู่ชุมชน     

กระทรวงสาธารณสุขโดยสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิตเข้ามาดูแลผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กพิเศษร่วมกันกับสถาบันเด็ก แห่งชาติมหาราชินี  และโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ที่ต้องการบริการแบบพิเศษด้วยการสนับสนุนทีมผู้ดูแลรักษามืออาชีพ ประกอบด้วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ พยาบาล ทีมสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเหมาะกับเด็กพิเศษและติดตามภาพถ่าย เอกซเรย์ปอดอย่างต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่พักรักษาตัวรวมทั้งวางแผนการส่งต่อกรณีฉุกเฉิน







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.