เปิดข้อสั่งการนายกฯ ส่อเบรกจัดซื้อ "ATK" ย้ำสเปค WHO ต้องรับรอง -ผู้ชนะประมูลทำหนังสือแจงเร่งด่วน
19 ส.ค. 2564, 16:29
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ชมรมแพทย์ชนบท ได้แถลงการณ์ระบุว่า แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 4 “มติ ครม. 17 สิงหาคม 2564 ทางออกทางลงสำหรับการจัดซื้อ ATK เจ้าปัญหา” แถลงโดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ วันที่ 18 สิงหาคม 2564
ความเห็นต่างในการการประมูล ATK 8.5 ล้านชิ้น โดยองค์การเภสัชกรรม ที่มีความไม่สบายใจอย่างสูงจากผู้ใช้ทั้งโรงพยาบาลต่างๆและภาคประชาชนที่จะรับการตรวจต่อการที่องค์การเภสัชกรรมยืนยันจะจัดซื้อตามผลการประมูลที่ได้บริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เสนอ ATK ยี่ห้อ LEPU บัดนี้มีทางออกทางลงแล้ว
ด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งได้มีวาระการรับทราบมติ ศบค.ในหลายๆเรื่อง หนึ่งในนั้นมีเรื่องข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการจัดซื้อ ATK กล่าวคือ มติคณะรัฐมนตรีได้ระบุชัดเจนถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในหน้า 53 วงเล็บ 6 ระบุว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit: ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด”
ทั้งนี้ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน มติ ครม.นี้มีความชัดเจนมาก และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาการระบาดหนักของโรคโควิด ทางชมรมแพทย์ชนบทจึงต้องขอแสดงความขอบคุณต่อท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้มีข้อสั่งการที่ชัดเจนและทันท่วงทีมา ณ โอกาสนี้
สำหรับขั้นตอนในการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุดนั้น ยังอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญา ซึ่งยังมีขั้นตอนการลงนามในสัญญาอีกหลายขั้นตอน จึงยังทันที่จะระงับการลงนามในสัญญาเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ทางชมรมแพทย์ชนบทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มีความชัดเจนและตรงไปตรงมาในเรื่องจัดหาชุดตรวจ ATK นี้ จะทำให้ปัญหาการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่เกิดความสับสนและมีข้อกังขานี้คลี่คลายจบลงไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK ที่มีมาตรฐานระดับองค์การอนามัยโลกรับรอง เพื่อประสิทธิผลในการควบคุมโรคโควิดที่ระบาดหนักในปัจจุบัน ให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ทันเวลา ลดความสูญเสียลงให้เร็วที่สุด
ล่าสุดวันที่ 19 สิงหาคม 2564 บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ร่วมกับ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ชนะการประมูลงานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ในการจัดหาและนำเข้าชุดตรวจโควิด-19 หรือ ATK ดำเนินงานภายใต้โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแจกให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ทำจดหมายชี้แจงถึง พณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ท่านนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในข้อที่ 6 คือ การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit:ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงทีและพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด
จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว โดยเฉพาะการระบุคุณสมบัติของชุดตรวจ ATK ที่จะต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก อาจจะทำให้การเตรียมจะเซ็นสัญญาระหว่างองค์กรเภสัชกรรมและบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ผู้ชนะการประมูล ไม่สามารถเดินต่อไปได้ เนื่องจากชุดตรวจ ATK ของ Lepu ไม่ได้รับการรับรองจาก WHO ซึ่งในข้อกำหนดการจัดซื้อ (TOR) ดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุถึง ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และ ณ ปัจจุบัน ได้มีเอกสารยืนยันว่า WHO ก็ยังไม่มีการอนุมัติชุดตรวจแบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Home use)ให้แก่บริษัทใดเลย
ด้วยเหตุนี้ ทาง ศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด และ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำจดหมายเปิดผนึกด่วน ขอชี้แจงประเด็นดังกล่าวแก่ ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันโอชา ถึงข้อกำหนดสำคัญในการจัดซื้อ และจากการสั่งการผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา พร้อมแนบเอกสารรายงานของ WHO ไปในครั้งนี้ด้วย
ที่มา ชมรมแพทย์ชนบท, bangkokbiznews