เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กทม.ปรับศูนย์พักคอยฯ 7 แห่ง เป็นรพ.สนามระดับกลุ่มเขต รับผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มกว่า 1,000 เตียง


20 ส.ค. 2564, 18:50



กทม.ปรับศูนย์พักคอยฯ 7 แห่ง เป็นรพ.สนามระดับกลุ่มเขต รับผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มกว่า 1,000 เตียง




วันนี้ ( 20 ส.ค.64 ) เนื่องจากขณะนี้โรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามมีผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงเข้ารักษาตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน กรุงเทพมหานครจึงได้ปรับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบ เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องเอกซเรย์ปอด ให้เป็นโรงพยาบาลระดับกลุ่มเขต (Community Isolation Plus) 7 แห่ง สามารถเพิ่มเตียงสนามได้กว่า 1,000 เตียง จากเดิมที่มีโรงพยาบาลสนามอยู่แล้ว 7 แห่ง จำนวนกว่า 2,000 เตียง รวมแล้วจะมีเตียงโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นกว่า 3,000 เตียง ทำให้ผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด  มีเตียงรองรับเพิ่มมากขึ้นผู้ป่วยได้รับการรักษาจนหายและกลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติกับครอบครัวได้มากขึ้น

กรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ (Community Isolation : CI) เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียวแล้วจำนวน 70 แห่ง อยู่ในพื้นที่ 50 เขต เปิดให้บริการแล้วจำนวน 64 แห่ง (ข้อมูล  ณ  วันที่ 19 ส.ค. 2564) ซึ่งในขณะนี้สามารถรองรับผู้ป่วยได้สูงถึง 9,390 เตียง ส่วนการยกระดับศูนย์พักคอยฯ ซึ่งมีความพร้อมให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต หรือ CI Plus จำนวน 7 แห่ง ใน 6 กลุ่มเขตนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายให้มีกลุ่มเขตละ 1 แห่ง เพราะฉะนั้น ในด้านจำนวนเตียงพยาบาล และบุคลากรอาจจะต้องมีการเพิ่มโดยจัดหาบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านเพื่อรองรับและดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในกลุ่มสีเขียวและไม่สามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ ทางศูนย์พักคอยฯ ยินดีรับตัวเข้าสู่ระบบการรักษา โดยจะให้ยาฟ้าทะลายโจร และยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาอาการเบื้องต้น   ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครพยายามดำเนินการเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดงให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาอย่างสะดวกรวดเร็ว  ปลอดภัยและเป็นไปตามขั้นตอน

เขตลาดกระบังเป็น 1 ใน 7 เขตที่มีการปรับยกระดับศูนย์พักคอยฯ ให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต  ซึ่งก่อนหน้านี้ ศูนย์พักคอยฯ เขตลาดกระบัง รับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ยังไม่แสดงอาการ หรือสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่เมื่อมีผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองเพิ่มขึ้น ทำให้มีการยกระดับเพื่อรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง คือผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจติดขัด จำเป็นต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจน  แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 

สำหรับศูนย์พักคอยฯ เขตลาดกระบัง มีการรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองจากเขตใกล้เคียงเข้ามารักษาด้วย และจากการยกระดับศูนย์พักคอยฯ ให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเหลืองได้มีที่พักรักษาตัวและได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น



ในการยกระดับศูนย์พักคอยฯ ให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขตนั้นจะต้องตรวจสอบ สถานที่ที่จะจัดตั้งว่าเข้าเกณฑ์สามารถจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยฯ ได้หรือไม่ โดยประการแรก ต้องมีความพร้อมในเรื่องของสถานที่คือต้องมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต เช่น เป็นอาคารชั้นเดียวซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโดยไม่ต้องเดินขึ้นบันไดหลายชั้น ประการที่สอง ต้องมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า และรถฉุกเฉิน และประการที่สาม ต้องมีความพร้อมในเรื่องบุคลากรทางการแพทย์

อีกหนึ่งศูนย์พักคอยฯ ที่ยกระดับเป็นโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต คือ ศูนย์พักคอยฯ เขตมีนบุรี จะมีพยาบาลคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานหลายภาคส่วน เช่น หน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่เข้ามาช่วยเหลือในด้านการปรับปรุงสถานที่ การไฟฟ้านครหลวงให้ความอนุเคราะห์ยกเว้นค่ากระแสไฟฟ้าในการจัดทำศูนย์พักคอยฯ ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัยจะมีกองบัญชาการกองทัพไทย สนับสนุนเรื่องกำลังพล ยานพาหนะในการรับส่งผู้ป่วย สถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุง ดูแลเรื่องความสงบเรียบร้อย และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคืออาสาสมัครกู้ภัยร่วมใจ คอยสนับสนุนเรื่องรถพยาบาลฉุกเฉิน อีกทั้งมีทีมแพทย์พยาบาลจากโรงพยาบาลนวมินทร์ ที่คอยดูแลภายในศูนย์พักคอยเขตมีนบุรีแห่งนี้ นอกจากนี้แล้ว ศูนย์พักคอยฯ เขตมีนบุรี ยังได้รับความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนที่สนับสนุนในเรื่องเตียงกระดาษ พัดลม อาหารและเครื่องดื่มอย่างครบครัน

สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนหรือประชาชนที่มีความพร้อมด้านสถานที่ อุปกรณ์ ในการจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หากต้องการคำแนะนำ และเจ้าหน้าที่ในการดูแลการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ ให้ถูกต้อง สามารถแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักงานเขตในพื้นที่ของท่าน นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดทำระบบ “สายด่วนโควิดเขต” เป็นสายตรงถึง 50 สำนักงานเขต เขตละ 20 คู่สาย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

การปรับยกระดับศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน และเชื่อมั่นได้ว่าประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดขณะพักรักษาตัวอยู่ในศูนย์พักคอยฯ โดย กทม. ได้เร่งขยายศักยภาพการรักษาผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งมีการเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนัก นอกจากนี้  ยังมีศูนย์พักคอยฯ เพื่อแยกการรักษาผู้ป่วยจากชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยทุก ๆ คนได้เข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมากที่สุด







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.