เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ปลัดสธ.ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิดในพื้นที่สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร


21 ส.ค. 2564, 17:34



ปลัดสธ.ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิดในพื้นที่สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร




วันที่ 21 สิงหาคม 2564 นายเเพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ และนายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการควบคุมโรคโควิด 19 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจเยี่ยมทั้ง 2 จังหวัด พบว่าจังหวัดสมุทรสงครามซึ่งเป็นพื้นที่สวน ทำการเกษตร มีการระบาดน้อย ต่างจากจังหวัดสมุทรสาคร ที่พบผู้ติดเชื้อสูง เนื่องจากมีสถานประกอบการและโรงงานจำนวนมาก มีประชากรทำงานเป็นกลุ่มก้อน โดยส่วนใหญ่ 90 % เป็นการติดเชื้อภายในโรงงาน แต่มีการบริหารจัดการดูแลได้ดี ทั้งระบบแยกกักที่บ้าน มาตรการ Bubble and Sealed ในโรงงานขนาดใหญ่ รองรับได้มากกว่า 30,000 เตียง รวมถึงมีการนำผู้ติดเชื้อไปอยู่ในสถานที่กักกันในชุมชน (Community Isolation - CI) จนปลอดเชื้อ เช่น พื้นที่ตำบลนาดี จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีระบบดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชนร่วมกัน 2 ส่วน คือ



1.ระบบ Community Isolation มีเตียงรองรับประมาณ 190 รับผิดชอบโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีทีมพยาบาลจากกองสาธารณสุข อบต.นาดี เป็นผู้ดูแล และ 2.โรงพยาบาลสนามมีเตียงรองรับประมาณ 150-160 เตียง มีโรงพยาบาลสมุทรสาครเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 2 แห่งอยู่อาคารใกล้กัน มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจชนิด Hi flow และรถเอ็กซเรย์ปอดเคลื่อนที่สำหรับตรวจเช็คอาการปอดทุกวัน หากผู้ติดเชื้อใน Community Isolation มีอาการรุนแรงจะส่งเข้าโรงพยาบาลสนาม และเมื่ออาการดีขึ้นจะส่งกลับมา Community Isolation ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกลและได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที และโรงพยาบาลหลักมีเตียงสำหรับรักษาผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้น


"ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเริ่มทรงตัว ซึ่งอาจมาจากมาตรการต่างๆ ในช่วงล็อกดาวน์ ที่ช่วยหยุดการแพร่ระบาดได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทุกคนยังต้องช่วยกันเข้มข้นเรื่องมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ให้คิดไว้ก่อนว่าคนรอบข้าง ๆ และตัวเราเองติดเชื้อ จึงต้องเข้มมาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง 608 ที่เสี่ยงต่อเกิดอาการหนักและเสียชีวิต ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ได้มาก จะทำให้ผู้ป่วยลดลง ภารกิจของแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้าก็จะลดลงตามไปด้วย" นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.