กทม.ตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi CI) ช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในครัวเรือน
25 ส.ค. 2564, 15:00
วันนี้ ( 25 ส.ค.64 ) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว จัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation: Semi CI) ในพื้นที่ 5 กลุ่มเขต มุ่งหวังช่วยลดการแพร่ระบาดและติดเชื้อในครัวเรือน ดูแลเข้มตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมส่งต่อโรงพยาบาลทันทีหากอาการรุนแรง
ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย เดือนสิงหาคมนี้พื้นที่กรุงเทพฯ พบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่กรุงเทพมหานครเร่งค้นหาผู้ป่วยโดยตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงยิ่งขึ้น รวมถึงการลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนโดยทีม Bangkok CCRT ขณะเดียวกันโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดกรุงเทพมหานครจะเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง รวมทั้งการเพิ่มศูนย์พักคอยฯ ให้ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
สำหรับมาตรการรองรับผู้ติดเชื้อในขณะนี้ ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation: CI) กทม. เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว สามารถเปิดให้บริการศูนย์พักคอยฯ ไปแล้ว 64 แห่ง จากทั้งหมด 70 แห่งใน 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. 64) รวมทั้งได้มีการยกระดับศูนย์พักคอยฯ ให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต หรือ CI PLUS จำนวน 7 แห่ง โดยติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง ได้มากขึ้น ปัจจุบันรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 1,000 เตียง นอกจากนี้ กทม. ยังได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคมในการร่วมจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation: Semi CI) โดยปัจจุบันเปิดแล้ว 55 แห่ง จากทั้งหมด 125 แห่ง โดย กทม.จะขยายแนวคิดนี้ไปสู่ชุมชนอื่นที่มีความพร้อมต่อไป
ซึ่งการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ ดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการโดยชุมชนเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง ต้องขอขอบคุณหลาย ๆ หน่วยงานที่อนุญาตให้ใช้สถานที่ ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน สถานที่ราชการ หอพัก หอประชุม วัด รวมทั้งให้การสนับสนุนระบบสื่อสาร ไฟฟ้า น้ำประปา เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ของใช้จำเป็นสำหรับผู้ป่วย ตลอดจนเอื้อเฟื้อบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย ที่ขาดไม่ได้เลยคือ อาสาสมัคร จิตอาสา กล่าวได้ว่า ศูนย์พักคอยฯ นี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ หากชุมชนใดมีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน สามารถติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ระบุว่า กทม. ได้จัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชนแล้วจำนวน 125 แห่ง ในพื้นที่ 5 กลุ่มเขต เปิดแล้ว 55 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้กว่า 1,000 เตียง สำหรับกลุ่มเขตที่มีการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย คือ กรุงเทพตะวันออก จำนวน 27 แห่ง กรุงธนใต้ จำนวน 14 แห่ง กรุงเทพกลางและกรุงเทพใต้ จำนวน 5 แห่ง และกรุงธนเหนือ จำนวน 4 แห่ง
การจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation : Semi CI) ในพื้นที่ว่าเป็นนโยบายของ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกรุงเทพมหานครที่ให้เขตจัดหาสถานที่ภายในชุมชนเพื่อจัดตั้ง
ศูนย์แยกกักในชุมชน ลดการแพร่ระบาดในครัวเรือน เนื่องจากภายในชุมชนแต่ละชุมชนมีสถานที่
ที่เหมาะสมต่อการจัดตั้งศูนย์ฯ ตัวอย่างเช่น ที่ทำการของชุมชน มัสยิด สถานที่รับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น
การจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation : Semi CI) เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรุงเทพมหานคร โดยฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ของสำนักงานเขต ร่วมกับ ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ คณะกรรมการชุมชน จิตอาสาในชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) คอยให้การดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง และพร้อมส่งต่อทันทีหากมีอาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ กทม. ยังได้งบประมาณจากเงินสนับสนุนชุมชน โดยนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เตียง ที่นอน ชุดเครื่องนอน เครื่องใช้จำเป็น ผ้าห่ม ยา อาหาร ให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation: Semi CI)
ศูนย์แยกกักในชุมชน เป็นการแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดภายในครอบครัว โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. คณะกรรมการชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในพื้นที่ และประชาชนจิตอาสา มีหน้าที่หลักในการดูแลผู้ป่วย จัดทำทะเบียนผู้ป่วย ตลอดจนการประสานงานกับสำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข ในการดูแลผู้ป่วย และนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
2. สำนักงานเขตมีหน้าที่สนับสนุนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ชุดเครื่องนอน เครื่องใช้ อาหาร ยา และสนับสนุนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล และจัดการขยะติดเชื้อต่าง ๆ
3. ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ มีหน้าที่ในการสอบสวนโรค ตรวจวินิจฉัย จ่ายยา และให้คำปรึกษากับผู้ป่วย
เขตทุ่งครุก็เป็นอีกหนึ่งเขตที่มีการเปิดศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation: Semi CI) ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนอัตตักวา รองรับได้ 10 เตียง ชุมชนดารีซีน รองรับได้ 25 เตียง ชุมชนใต้สะพาน รองรับได้ 20 เตียง และเร็ว ๆ นี้ จะเปิดอีก 1 แห่ง ที่ชุมชนซอยประชาอุทิศ 72 (มัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์) รองรับได้ 30 เตียง โดยขณะนี้จำนวนผู้ป่วยสะสมที่กักตัว ณ ศูนย์แยกกักในชุมชน มีดังนี้ ชุมชนอัตตักวา มีผู้ป่วยสะสม 8 คน หายป่วยแล้ว 3 คน ชุมชนดารีซีน มีผู้ป่วยสะสม 8 คน หายป่วยแล้ว 6 คน ชุมชนใต้สะพาน โซน 1 มีผู้ป่วยสะสม 12 คน หายป่วยแล้วทั้งหมด ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาคงเหลืออยู่ทั้งหมด 7 คน”
การจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation: Semi CI) นั้นเป็นการช่วยลดการแพร่ระบาดได้ เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยมากขึ้น ทำให้เตียงรักษาไม่เพียงพอ ซึ่งหากผู้ป่วยรู้ผลเร็ว จะรักษาได้เร็ว และปัญหาการแพร่ระบาดก็จะลดลงไปได้
จากข้อมูลของเขตทุ่งครุในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแพร่ระบาดในครอบครัว ศูนย์แยกกักในชุมชนจึงมีความจำเป็น เพราะถ้าเราช้าไปหนึ่งวัน เท่ากับว่าผู้ป่วยอาจจะนำเชื้อไปติดต่อกับคนอื่นหรือติดคนในครอบครัวได้อีก ซึ่งศูนย์แยกกักในชุมชน จะช่วยตัดวงจรนี้ได้ ถ้าเราแยกผู้ป่วยออกมา จะเป็นการลดการแพร่ระบาดได้ รู้เร็ว หยุดเร็ว ปัญหาการแพร่ระบาด
ก็จะลดลงไปได้
ด้าน นายชำนาญ โนรัญ ประธานชุมชนอัตตักวา เล่าว่า ได้เริ่มจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation: Semi CI) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยก่อนการจัดตั้ง มีการประชาสัมพันธ์และหารือเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนก่อน เพราะการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation: Semi CI) ค่อนข้างใกล้ชิดกับชุมชน ชาวบ้านอาจจะกังวลเรื่องความปลอดภัย เช่น เรื่องขยะติดเชื้อ หรือเชื้อโรคต่าง ๆ
“ก่อนการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน จะมีการประชาสัมพันธ์ ถามความคิดเห็น และพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร โดยเราจะให้เหตุผลความจำเป็นว่าทำไมถึงต้องมีศูนย์แยกกักในชุมชน ตอนแรก ๆ ประชาชนเขากังวลเรื่องเชื้อโรคที่อาจจะแพร่กระจายไปในอากาศ ซึ่งตรงนี้ สำนักงานเขตก็ได้เข้ามาสนับสนุนด้วยการมอบหมายฝ่ายโยธา นำอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาปิดกั้นสถานที่ให้มิดชิด และมีมาตรการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเล็งเห็นว่าการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชนจะสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลได้อย่างทั่วถึงและลดการแพร่ระบาดในชุมชนได้” ประธานชุมชนอัตตักวา กล่าว
ขณะที่ นางพนมไพร ทองดี อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ศูนย์สาธารณสุข 59 ทุ่งครุ ประจำชุมชนใต้สะพาน โซน 1 ได้ให้ข้อมูลถึงการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation : Semi CI) ของชุมชนใต้สะพาน โซน 1 ว่า มีการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชนที่ศูนย์เด็กเล็กภายในชุมชน โดยก่อนการจัดตั้งจะประชาสัมพันธ์ให้ชาวชุมชนทราบก่อน สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุขมาให้ความรู้และข้อเสนอแนะ ซึ่งประชาชนยินดีให้ความร่วมมือและเห็นว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีศูนย์แยกกักในชุมชน
“การจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน สามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เช่น ใครที่เจ็บคอนิดหน่อย เราจะทำการตรวจหาเชื้อทันที มีทีมหมอเชิงรุกเข้ามาช่วยตรวจ ถ้าใครที่ผลตรวจเป็นบวก จะแยกกักตัวทันที ซึ่งผู้ติดเชื้อในชุมชนเองก็ดีใจที่มีการจัดตั้งศูนย์ฯ นอกจากนี้ เราเข้าไปทำความเข้าใจกับผู้ป่วยด้วยว่า ไม่ต้องกังวลที่นี่ก็สามารถรักษาหายได้ ดูแลใกล้ชิด ไม่ต่างจากโรงพยาบาล ซึ่งหากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่สามารถแยกกักตัวรักษาที่บ้านได้ ก็มากักตัวที่ศูนย์แยกกักในชุมชนได้ แต่สำหรับคนที่เริ่มเป็นกลุ่มสีเหลือง เราจะส่งไปอยู่ในโรงพยาบาลสนามระดับกลุ่มเขต หรือหากเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่ค่อนไปทางผู้ป่วยกลุ่มสีแดง จะประสานที่ 1669 เพื่อส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลักต่อไป จะเห็นว่า ศูนย์แยกกักในชุมชนก็สามารถช่วยคัดกรองและดูแลผู้ป่วยในเบื้องต้นได้เหมือนกัน”
นางพนมไพร ทองดี กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้ชุมชนใต้สะพาน โซน 1 มีผู้ป่วยที่อยู่ภายในศูนย์ฯ 2 คน ต้องขอบคุณสำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุขที่จัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชนให้ อีกทั้งเรายังได้ให้กำลังใจ ดูแลรักษากันอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว คนที่มารักษาที่นี่ก็ค่อย ๆ หายป่วยกลับบ้านกันไปทุกคนแล้วค่ะ”
อย่างไรก็ตาม กทม. มีแผนที่จะเดินหน้าเรื่องการจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชน (Semi Community Isolation : Semi CI) ในพื้นที่เขตอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ ต่อไป โดยชุมชนหรือภาคเอกชนใดที่มีความพร้อมสามารถร่วมจัดตั้งศูนย์แยกกักในชุมชนกับทาง กทม.ได้เช่นกัน โดยติดต่อได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ ทั้งนี้ความมุ่งหวังก็เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดและติดเชื้อในครัวเรือนรวมถึงประชาชนที่ป่วยจะได้เข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย