เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สพอท. ร่วมกับ มทร.พ. เตรียมจัดอบรมการใช้ยากัญชารักษาผู้ป่วยแผนปัจจุบัน และแผนไทย รุ่นที่ 6


25 ส.ค. 2562, 14:03



สพอท. ร่วมกับ มทร.พ. เตรียมจัดอบรมการใช้ยากัญชารักษาผู้ป่วยแผนปัจจุบัน และแผนไทย รุ่นที่ 6




วันนี้ ( 25 ส.ค. 62 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ได้รับการเปิดเผยจาก ดร.ไพศาล การถาง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ว่า ตามที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ได้มีผลเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญเกี่ยวกับพืชกัญชากัญชงกระท่อมและพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ซึ่งนอกจากจะยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แล้วยังได้มีการเปิดโอกาสให้พืชดังกล่าวข้างต้นสามารถขออนุญาตเพื่อประโยชน์ทางราชการทางการแพทย์การรักษาผู้ป่วยหรือการศึกษาวิจัยและพัฒนาอันเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยตามกฎหมายได้ ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญตามกฎหมายฉบับนี้

และนอกจากบทบาทที่สำคัญดังกล่าวแล้วมาตรา 26/5 (4) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ยังได้บัญญัติให้ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นหรือสหกรณ์การเกษตร ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

ซึ่งดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและการกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ เป็นต้น สามารถขออนุญาตตามที่กฎหมาย บัญญัติทั้งนี้ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมดังกล่าวสามารถร่วมผลิตและพัฒนาสูตรตำรับยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

ดร.ไพศาล การถาง เปิดเผยว่า รองศาสตราจารย์สุภัทรา โกไศยกานนท์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ร่วมกับแพทย์หญิงอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สพอท.) จะจัดอบรมหลักสูตรการแพทย์แคนนาบินอยด์ เรื่องการใช้ยากัญชารักษาผู้ป่วยแผนปัจจุบันและแผนไทย รุ่นที่ 6 ที่ห้องราชพฤกษ์ภิรมย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค. นี้

ผู้มีสิทธิเข้าอบรมคือ ผู้มีสิทธิตาม มาตรา 26/5 (4) คือ ผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวศาสตร์ แพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือก ผู้มีใบประกอบโรคศิลปะหมอพื้นบ้าน หลังจากจบหลักสูตรการอบรม ทุกคนจะได้สิทธิเป็นผู้สามารถสั่งจ่ายยากัญชาได้

โดยเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สำนักงานอาหารและยา (อย.) ได้คัดเลือกให้ 4 จังหวัดของประเทศ นำร่องปลูกกัญชาแบบเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย จังหวัดกาญจนบุรี ลำปาง บุรีรัมย์ และ สุราษฎร์ธานี

สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ เพราะโดยพื้นฐานของจังหวัดกาญจนบุรี เป็นเมืองเกษตรอุตสาหกรรม และยิ่งไปกว่านั้นจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะบริเวณตำบลแก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่วนโรงพยาบาลเจ้าคุณไพบูลย์ อำเภอพนมทวน เป็น 1 ใน 37 โรงพยาบาลจากทั่วประเทศที่มีศักยภาพในการดำเนินการเกี่ยวกับการสกัดกลั่นน้ำมันจากกัญชาได้อีกด้วย

ที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.) ร่วมกับ “ องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยน” รวมทั้ง “กลุ่มวิสาหกิจเกษตรวิถีท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ในเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี จำนวน 24 กลุ่ม”  “ กลุ่มวิสาหกิจเกษตรวิถีท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ในเขตอำเภอด่านมะขามเตี้ย จำนวน 7 กลุ่ม” และ "วิสาหกิจชุมชนเวชศาสตร์สมุนไพรพัฒนาคุณภาพชีวิตครู แห่งประเทศไทย" ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ หรือ MOU ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา

การลงนาม MOU เป็นการตกลงที่จะร่วมมือดำเนินโครงการซึ่งมีรูปแบบเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเกษตรปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ เกษตรชีวภาพ เกษตรอิเล็กทรอนิกส์และจัดทำแพลตฟอร์ออนไลน์สนับสนุนในรูปแบบ “แก่งเสี้ยน กาญจนบุรี โมเดล" เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เมื่อ GDP ของท้องถิ่นดีขึ้น จะทำให้ GDP ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ดีขึ้นตามไปด้วย นั่นหมายถึงจะส่งผลไปถึง  GDP ในระดับประเทศด้วย

 

 

 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.