เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ผู้ว่าฯ ตรัง นำ "น้องมาเรียม" เป็นกรณีศึกษา เตรียมผลักดันแผนแม่บทอนุรักษ์พะยูน เพื่อนำเข้าแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด


26 ส.ค. 2562, 09:30



ผู้ว่าฯ ตรัง นำ "น้องมาเรียม" เป็นกรณีศึกษา เตรียมผลักดันแผนแม่บทอนุรักษ์พะยูน เพื่อนำเข้าแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด




นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากกรณี "น้องมาเรียม" ได้เสียชีวิตไปนั้น ทำให้ทุกคนเสียใจ และจะนำกรณีนี้มาถอดบทเรียนเป็นกรณีศึกษา พร้อมดำเนินการหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาพะยูนตาย และการอนุรักษ์พะยูนในจังหวัดตรัง หลังพบพะยูนตายอย่างต่อเนื่อง

          โดยปีนี้ในจังหวัดตรังพบพะยูนตายแล้วรวม 9 ตัว และขณะนี้ได้เชิญตัวแทนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาพูดคุยถึงแนวทางในการปรับยุทธศาสตร์ด้านพะยูน โดยได้คุยกันเป็นการเบื้องต้นแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำข้อเสนอว่าจะต้องจัดในรูปแบบอย่างไร แต่เป็นลักษณะเน้นงานวิชาการที่จับต้องได้ โดยเฉพาะงานวิจัยที่มีอยู่กับปราชญ์ชุมชนต้องคุยกันให้ชัดเจน ถือเป็นการทำงานวิจัย เพื่อนำมาเข้าแผนยุทธศาสตร์จังหวัดเรื่องพะยูน



  เพราะที่ผ่านมาแผนยุทธศาสตร์มีประมาณ 200 หน้า ไม่เคยมีเรื่องพะยูน ตนเองจึงต้องผลักดันให้เกิด ภายใต้กรอบคำว่า พะยูน คือ อะไร ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง คือ อะไร เพราะเรามีการท่องเที่ยว หากส่งเสริมไปดูพะยูนจะต้องไปดูได้แค่ไหน ต้องคุยกันหมดทุกมิติ

          ทั้งนี้จะมีการประชุมศึกษาแผนร่วมกันในเดือนหน้า ขณะนี้ให้ทางมหาวิทยาลัยไปเขียนข้อเสนอมา ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกันกับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่าในปีหน้าจะมีการประชุมภาคีเครือข่ายพะยูนโลกที่จังหวัดตรัง ในห้วงประมาณเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม โดยจังหวัดตรังมีความพร้อมในการอำนวยความสะดวก ทั้งที่พักที่จัดประชุม

          ส่วนตัวอยากให้เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการสามารถไปดูงานในพื้นที่ได้ด้วย จะทำให้บรรยากาศในการประชุมมีความสมบูรณ์ทางวิชาการมากขึ้น ซึ่งทางจังหวัดจะต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดด้านพะยูน ให้สอดรับกับแผนวาระพะยูนแห่งชาติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องสอดรับและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          แต่ขณะนี้ทางจังหวัดจะเร่งทำแผนพัฒนาจังหวัดตรังก่อน เพราะที่ผ่านมาเราพูดถึงแต่เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก แต่ไม่มีเรื่องตัวพะยูน เพราะพะยูนเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดตรัง ส่วนสัตว์อื่น ๆ เช่น เต่ามะเฟือง โลมา ก็สามารถใส่ได้ แต่ขณะนี้จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของพะยูนให้ชัดเจน แต่จะนำแนวทางข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้านรวมด้วย

          ส่วนแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าลดปัญหาการตายของพะยูน ได้คุยกันชัดเจนแล้วกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงว่า ต้องเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษโดยเฉพาะคนนอกที่เข้ามาในชุมชน เข้ามาในเขตพื้นที่ จะต้องถือปฏิบัติตามมติ ครม. ปี 2561 อย่างเคร่งครัด และการให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นหลักในการตรวจตรา ทั้งเฝ้าระวังพื้นที่ การร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม และการเก็บกำจัดขยะชุมชนไม่ให้มีอีกต่อไป







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.