"บิ๊กตู่" จี้จุดฝ่ายค้านอวยพรเป็นรัฐบาลให้ได้ ลั่นเบิกงบหลวงฯไม่มีพลาด "ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้" อยู่แล้ว
1 ก.ย. 2564, 16:52
วันที่ ( 1 ก.ย. 64 ) เวลา 14.05 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยเริ่มต้นว่า ผมนั่งฟังอยู่ตลอด ก็มีคำพูดหลายๆอย่างซึ่งผมเห็นว่าไม่สมควรในการใช้ในสภาผู้ทรงเกียรติแห่งนี้ วันนี้ท่านก็กล่าวถึงเรื่องก่อนยึดอำนาจ บอกเกษตรกรมีความสุขมีเงินใช้ ผมยืนยันว่าถ้าไม่มีการทุจริตในตอนนี้นเกษตรกรจะมีเงินใช้มากกว่านี้ด้วยซ้ำไปนี่ข้อเทจจริงผมพูดแค่นี้
เรื่้องภาคการผลิตการเกษตร เราต้องทำให้เกษตรกรเข้มแข็งมีวิวัฒนาการด้านการต้นทุนการผลิต เรื่องอะไรเหล่านี้ ที่ผ่านมาไม่มีการบริหารจัดการตรงนี้เลย ต่างคนต่างทำ ช่วยตัวเองกันมาโดยตลอด และใช้เงินภาครัฐอุดหนุน เราก็มีมาตรการลงไปดูแลให้ในส่วนของกระทรวงเกษตร เราใช้งบประมาณภาครัฐไปดูแลภาคการเกษตรเยอะมาก เยอะกว่าประเภทอื่นๆ ด้วยซ้ำไป ส่วนเรื่องชาวประมง ถ้าฟังก็ดูเหมือนเป็นห่วงเป็นใยเขา แต่ต้องคำนึงทรัพยากรทางทะเลของเราด้วย ฉะนั้นการปฏิบัติตามมาตรการที่ออกไป ก็จำเป็นเพราะเราต้องพึ่งพาตลาดโลก ถ้าเราทำอะไรไม่ถูกต้อง ขอให้ทำให้ถูกต้อง ต้องยอมรับว่ามีการทำไม่ถูกกฎหมายอยู่เยอะ และทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ถ้าบอกว่าจะเอารายได้อย่างเดียว ถ้ามีความเสียหายในอนาคต ท่านรับผิดชอบไหวหรือไม่ ความเสียหายมาจากอะไรเพราะถ้าถูกกฎหมายใครจะทำอะไรเขาได้ จะเห็นได้ว่าพืชหลัก 6 ชนิดมันไม่เหมือนเดิมแล้วตลาดเปลี่ยน ตลาดโลกเปลี่ยน หลายคนบอกราคายางควรจะ 120 บาท ข้าวควรจะ 15,000 บาท ถามว่าจะไปขายใคร เราก็มีการประกันราคาข้าวให้ตามที่มีงบฯ ม.28 เกือบเต็มจำนวนแล้ว ราคาข้าวไม่ใช่ราคาที่เราตั้งได้เอง เป็นราคาสากล เราต้องแก้ทั้งกระบวนการทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง
ในส่วนของงบฯเงินกู้ พูดไปหลายครั้งแรก ก็ไม่ทราบว่าไม่เข้าใจได้อย่างไรว่าเราใช้ประโยชน์อะไรไปแล้วบ้าง บอกให้ไปใช้ตรงนั้นตรงนี้ ท่านไม่เคยรู้เรื่องระเบียบเลยหรืออย่างไร ท่านก็เคยเป็นรัฐบาลกันมาก่อนแล้วทั้งนั้น ฉะนั้นเรื่องระบบระเบียบกฎหมายรับรองเงินหลวงไม่มีพลาด ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้อยู่แล้ว มีปัญหาก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกันมาแล้วกัน
ส่วนเรื่องวัคซีนเราเตรียมการมาตั้งแต่ปี 63 แต่ตอนนั้นยังไม่มีความชัดเจน จนมีการรับรองโดย WHO แล้วเราก็ทยอยจัดหามาไม่ใช่สินค้าทั่วไปตามท้องตลาด เป็นสินค้าฉุกเฉิน วันนี้เราก็ปลดล็อกไปหลายอย่างด้วยกัน ก็มีหลายยี่ห้อที่มาขณะนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ขายและประเทศต้นทางด้วย ถ้าพูดกันลายๆเดี๋ยวจะเข้าใจผิดกัน ถ้ามันง่ายจริงทำไมผมจะไม่ทำ สั่งวันนี้ได้พรุ่งนี้ทำไมผมจะไม่ทำ มันคือความเสียหายกับประชาชน คือชีวิตของประชาชน ไม่ใช่สิ่งที่ผมจะมีความสุขได้เลย ผมทำอย่างเต็มที่แล้ว และวันนี้สถิต่างๆก็เริ่มดีขึ้น เราทำงานเพื่อคนหลายสิบล้านคน ฉะนั้นถ้าท่านบอกว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็อวยพรให้สมหวังในการเลือกตั้งคราวหน้า เอาไว้ให้ท่านเป็นรัฐบาลแล้วหาเงินมาอย่างที่ท่านว่า อยากจะใช้เงินยังไงก็ได้ แต่ท่านต้องระวัง อาจจะไม่ได้อยู่ในประเทศ เหมือนบางคนที่ผ่านมา เรื่องเงินสมทบต่างๆ วันนี้ใช้งบประมาณทุกกลุ่มจากทุกที่ทุกแหล่ง ส่วนไหนไม่เพียงพอก็จัดสรรงบกลางไปให้ แต่จะให้ทั้งหมดโดยตรงเป็นไปไม่ได้ เราก็จ่ายในอัตราส่วนที่เหมาะสม ถ้าจะค้านทุกอันมันก็ไปไม่ได้ทั้งหมด อันนี้เป็นการกล่าวในข้อเท็จจริง เพราะท่านก็กล่าวมาท่านก็ฟังผมกล่าวบ้าง อย่าโกรธผมก็แล้วกัน ผมไม่เคยโกรธท่าน
โดยนายกรัฐมนตรีพูดโดยสรุปในช่วงบ่ายดังนี้
1. ภาคการผลิตการเกษตร เน้นการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชทดแทนพืชหลัก 6 ชนิด รวมถึงการปรับทุนต้นทุนการผลิต มีมาตรการประกันราคาข้าวตามวงเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ รัฐบาลได้เด็ดขาดกับการทำประมงผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติทางทะเลจำนวนมาก
2. วัคซีน รัฐบาลได้มีการเตรียมการตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่ขณะนั้นการวิจัยและพัฒนาวัคซีนยังไม่มีผลสัมฤทธิ์ชัดเจน เมื่อ WHO รับรองก็เริ่มทยอยจัดหามาเพิ่มเติม ทั้งนี้ วัคซีนเป็นสินค้าฉุกเฉิน การนำเข้ามาจะขึ้นอยู่กับผู้จำหน่ายและประเทศต้นทางด้วย วันนี้ ยังได้ปลดล็อกมาตรการ จัดรูปแบบการเดินทางให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เดินทางกลับบ้าน เช่น โรงพยาบาลสนาม การทำ Home Isolation และ Community Isolation
3. การเยียวยาประชาชน รัฐบาลใช้นโยบายการเงินการคลังขนาดใหญ่เพื่อเยียวยาและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด เช่น การเยียวยา ม.33 ม.40 การจ่ายสมทบเพื่อลดอัตราการว่างงาน การผ่อนปรนการชำระหนี้ ลดภาระหนี้ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ ปรับวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกปิดกิจการ ปัจจุบันได้ช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนไปแล้วกว่า 5.1 ล้านบัญชี ยอดหนี้ได้รับความช่วยเหลือกว่า 1.91 ล้านล้านบาท ช่วยลูกหนี้ภาคธุรกิจแล้วกว่า 8.9 แสนราย ยอดหนี้กว่า 1.94 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังเดินหน้าแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อยกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ หนี้ กยศ. หนี้สินครู นอกจากนี้ รัฐบาลจัดสรรเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือครัวเรือน กลุ่มเปราะบาง รวมถึงเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น จัดหางบประมาณกลางเพิ่มเติมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
4. ภาพรวมเศรษฐกิจ การรายงานของธนาคารโลก (World bank) เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ไทยขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคมแบบก้าวกระโดด จาก 0.8% ของ GDP ในปี 2562 เป็น 3.2% ของ GDP ในปี 2563 หนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และไม่ส่งผลกระทบในระยะปานกลาง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ: IMF รายงานเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy) พบว่า ไทยใช้นโยบายการคลังในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ขนาดใหญ่ประมาณ 11.4% ของ GDP สูงเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศชิลี และสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เม็ดเงินประมาณ 8.5 แสนล้านบาทไหลเข้าสู่กระเป๋าประชาชนกว่า 42.3 ล้านคน เป็น 1 ใน 4 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ 5% ของ GDP จากผลกระทบโควิด-19 ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นเงินตราในประเทศ และไทยยังมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ
5. โควิด-19 เป็นปัญหาระดับโลก อัตราการติดเชื้อต่อประชากรไทย ค่าเฉลี่ยร้อยละ 1.77 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 2.97 อัตราการเสียชีวิตต่อการติดเชื้อของไทย ค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.95 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ร้อยละ 2.07 รัฐบาลมุ่งหวังที่จะทำให้ดีกว่านี้ พัฒนาต่อไปให้ดีที่สุด ไม่ต้องการให้สูญเสียประชากรเพิ่มอีกแม้เพียงคนเดียว
นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลยืนยันยังมุ่งหน้าทุ่มเททำงานต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดยใช้งบประมาณจากเงินภาษีของพี่น้องประชาชนอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยตัวเลขทั้งหมดไม่ว่าด้านสาธารณสุข การใช้นโยบายการเงินการคลังที่เข้มข้นในการดูแลเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาใหญ่ส่งผลรุนแรงน้อย ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และหลาย ๆ ประเทศ และองค์กรชั้นนำอย่างธนาคารโลกและ IMF ก็อ้างถึงในทางบวก การใช้เงินเยียวยาถึงมือประชาชนโดยตรง เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปากท้องของพี่น้องประชาชน และแน่นอนวิกฤตครั้งนี้ใหญ่มากและยังไม่จบ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะขอทุ่มเททำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างสุดความสามารถต่อไป