สมาคมทนายฯ ชี้ หากตร.ทำสำนวนคดีผกก.โจ้ เสร็จส่งอัยการเเล้ว ควรเปิดเผยความเห็น "พนง.สอบสวน"
2 ก.ย. 2564, 10:49
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ความว่า
ตามที่สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีกับ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล (ผู้กำกับโจ้) กับพวก กรณีถูกกล่าวหาตามหมายจับของศาลจังหวัดนครสวรรค์ ที่ จ.187/2564 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดซึ่งต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้โอนสำนวนมาให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการกองปราบปรามเป็นผู้รับผิดชอบนั้น
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขอเรียนว่า เหตุที่ได้เรียกร้องให้มีการโอนสำนวนคดีนี้จาก สภ.เมืองนครสวรรค์ ให้กองบังคับการกองปราบปรามรับผิดชอบเพื่อขจัดการมีส่วนได้เสียอันจะทำให้การสอบสวนเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม โดยเฉพาะการดำเนินคดีนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความน่าเชื่อถือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในขณะที่ผู้ทำหน้าที่สอบสวนก็เป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงต้องดำเนินคดีนี้ด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว เป็นธรรม และตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในตำรวจที่เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม
เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนว่ามีความเป็นกลางและเป็นธรรม การมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องบุคคลใดได้ดำเนินการไปตามพยานหลักฐานและตามรูปคดี โดยปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำไม่ว่าจะจากบุคคลหรือองค์กรใด ดังนั้น เมื่อทำการสอบสวนเสร็จก่อนส่งสำนวนและความเห็นของพนักงานสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรแถลงให้ประชาชนได้ทราบถึงความเห็นของพนักงานสอบสวนในการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคนใด ในข้อหาใดหรือไม่พร้อมด้วยเหตุผลประกอบการมีความเห็นดังกล่าว
สมาคมทนายความแห่งประเทศเห็นว่าการแถลงให้ประชาชนทราบถึงความเห็นของพนักงานสอบสวนไม่ถือเป็นการแทรกแซงการสอบสวน ทั้งมิได้เป็นการเปิดเผยความลับในสำนวนและมิได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดี
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขอสนับสนุนการดำเนินคดีอย่างอิสระของพนักงานสอบสวน โดยทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ปราศจากอคติ ความลำเอียง และต้องเคารพสิทธิของผู้ต้องหาที่รัฐธรรมนูญสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้