นายกฯ แจงการปรับตัว ปฏิรูปการศึกษาไทยช่วงสถานการณ์โควิด-19
2 ก.ย. 2564, 14:55
วันนี้ ( 2 ก.ย.64 ) เวลา 11.15 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจง กรณีการจัดการศึกษาในช่วงสถานีโควิด 19 ดังนี้
1. รัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอดเพราะเยาวชนคืออนาคต รัฐบาลต้องดูแลทั้งนักเรียนและครู ให้ครูได้ทำการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน การวัดผลให้ตรงกับศตวรรษ 21 และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
2. การปฏิรูปเกี่ยวกับครู ได้แก่ การลดภาระงานของครู ลดการรายงานโครงการเหลือเพียง 1% เพื่อให้ครูได้ทำแนวทางการสอน มีเวลาอยู่กับนักเรียนมากขึ้น ลดการทำวิทยฐานะของครูเหลือ 4 ปี ส่งผลดีต่อการสร้างขวัญและกำลังใจครู ไปปรับแนวทางการสอนให้ดียิ่งขึ้น
3. การปฏิรูปของนักเรียน โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ลดการบ้าน เน้นการปฏิบัติ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงยังมีปัญหาแต่ขอให้ใช้เวลาปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ รัฐบาลดำเนินการตามแนวทางใหม่ สำหรับนักศึกษาอาชีวะมืออาชีพ ได้ร่วมมือกับต่างประเทศปรับสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย สามารถเลือกเรียนออนไลน์หรือทางไกล ลดความเหลื่อมล้ำจากการศึกษา รวมทั้งได้มีการเรียนรู้และปฏิบัติจากหลักสูตร Coding ซึ่งคือการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ป.1-ป.3 เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานในอนาคต ฝึกอบรมลูกเสือมัคคุเทศก์ โดยนำหลักสูตรจิตอาสา 904 มาใช้ในการฝึกอบรม
4. การจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลหลักสูตร ได้ปรับให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ให้สถานศึกษาจัดการสอนแบบผสมผสานหลายรูปแบบ โดยคำนึงถึงผู้เรียนที่มีคุณภาพ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในหลายรูปแบบ อาทิ On-site (การเรียนในสถานศึกษา) On-air (การเรียนทางไกลผ่านระบบดาวเทียมและผ่านระบบ DLTV) Online (ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต) On-demand (การเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) On hand (การเรียนแบบส่งเอกสารถึงบ้าน) รวมทั้ง การปรับแนวทางการประเมินผลการเรียนรู้ให้เหมาะกับรูปแบบการเรียนการสอน บริบทของสถานศึกษา และผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่ต้องใช้คะแนนจากการสอบเพียงอย่างเดียว อาจพิจารณาการทำกิจกรรมแทน
5. การแก้ปัญหาหนี้สินครู โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประสานงานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการในการลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย สนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียดอกเบี้ยและทำประกันชีวิตที่ผูกกับเงินกู้น้อยลง และวางแผนป้องกันระยะยาวให้ครูเพื่อกู้เงิน รวมทั้งสร้างทักษะการดำเนินชีวิตให้ครูบรรจุใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาการมีหนี้สินในอนาคต