คืบหน้า ! "ตำรวจ ตม.14 นาย" ถูกอมเบี้ยเลี้ยง เข้าพบ "รอง ผกก.ตม.สุรินทร์ - ตม.4" หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม
3 ก.ย. 2564, 10:51
จากกรณีผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสุรินทร์ ได้รับการร้องเรียน จากเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสุรินทร์ ระดับชั้นผู้น้อยนายหนึ่ง ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง และที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พร้อมนำเอกสารรายชื่อของเจ้าหน้าที่ ตม.สุรินทร์ จำนวน 14 นาย ที่ถูกอดีตผู้บังคับบัญชา อมเบี้ยเลี้ยง รวมจำนวน 128,800 บาท โดยระบุว่า เมื่อช่วงราวเดือน กันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไว้โคโรนา หรือโควิด-19 และได้รับคำสั่งให้มีการจัดชุดสืบ หรือชุดตรวจออกปฏิบัติหน้าที่ จัดเป็นชุด 14 นาย ภายหลังจากนั้นก็ได้มีการโอนเงินเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงเข้ามายังบัญชี ของเจ้าหน้าที่แต่ละคน จากนั้นไม่นาน โดยมีนายตำรวจ อดีตผู้บังคับบัญชานายหนึ่ง ไล้มาหาแต่ละคน ให้โอนเงินที่ได้รับมา โอนเข้าบัญชี ของนายตำรวจ ระดับสารวัตร นายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้บัญชาในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันย้ายออกนอกพื้นที่ไปแล้ว
ภายหลังจากนั้น ตำรวจชุดออกสืบหรือชุดปฏิบัติงานป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้ง 14 นาย ก็ได้โอนเงินที่แต่ละคนได้รับ กลับไปตามเลขบัญชี ธนาคารกรุงไทย ของนายตำรวจระดับสารวัตร ที่เป็นผู้บังคับบัญชาในขณะนั้น ในช่วงนั้นไม่มีใครกล้าที่จะร้องเรียน หรือแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้ทราบ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับหน้าที่การงาน หรือผู้บังคับบัญชาจะสั่งลงโทษ ขณะที่ช่วงนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อย เห็นการทำงานของผู้บังคับบัญชาในระดับสูง ที่เอาใจใส่ และดูแลตำรวจชั้นผู้น้อยให้ได้รับความเป็นธรรม ตามข่าวสารที่ปรากฏตามสื่อต่างๆในขณะนี้ จึงได้ถือโอกาสร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน เพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ ตม.สุรินทร์ ซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยในครั้งนี้ด้วย
และในวันที่ 2 ก.ย.64 ที่ สนง.ตรวจคนเข้าเมืองสุรินทร์ อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ พ.ต.ท.ฐิติวันจ์ อาจน์ธรรม รอง ผกก.ตม.จว.สุรินทร์ เปิดเผยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2563 ช่วงเดือนกันยายน ซึ่งท่านสารวัตรที่ถูกร้องเรียน ท่านมาช่วยราชการที่นี่ พร้อมกับท่านผู้กำกับ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ ออกมาช่วยราชการกัน มีตนเองคนเดียวที่ยังอยู่ที่นี่ ที่พอจะทราบเรื่อง แต่โดยกระบวนการตรวจสอบ คงต้องเป็นของส่วนกลาง
ในเบื้องต้น มี จนท.ตำรวจ 14 ราย ที่เราจะต้องตรวจสอบเบื้องต้นว่าเกิดเหตุนี้จริงหรือไม่ เพื่อที่จะรายงานผู้บังคับบัญชาต่อไป ยืนยันว่าเราจะไม่มีการช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใดให้อยู่นอกกรอบกติกาของกฎหมายเด็ดขาด เกิดอะไรขึ้นจะต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นตนเองหรือว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบเบื้องต้น ตม.สุรินทร์ ไม่เคยเบิกเบี้ยเลี้ยงโควิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว อีกอย่างจังหวัดสุรินทร์ไม่ได้ร้องขออะไรมาเป็นพิเศษ ส่วนเอกสารอะไรที่ปรากฏ เราจะได้เรียกทั้ง 14 คนมาตรวจสอบว่าเป็นอย่างไร โดยทาง พ.ต.อ.เอกกมนต์ พรชูเกียรติ รอง ผู้บังคับการ ตม.4 ได้ส่ง จนท.สืบสวนลงพื้นที่สืบสวน แล้ว และในช่วงบ่ายๆเย็นนี้ จะมีการแถลงข่าวในเรื่องที่เกิดขึ้นที่ ตม.4 ต่อไป
และในช่วงบ่ายของวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวภายในสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสุรินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอกาบเชิง หลังจากมีการประสานมาจากสำนักงานกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 จ.ขอนแก่น ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง 4 เดินทางมาสอบสวนในเรื่องนี้ ตลอดช่วงค่ำยังไม่พบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม.4 เดินทางมาสอบสวน มีเพียง รอง ผกก.ตม.กาบเชิง และเจ้าหน้าที่ ตม.ชุดที่มีรายชื่อทั้ง 14 นาย เดินทางมารอ ชี้แจงข้อเท็จจริง กับ เจ้าหน้าที่ ตม.4 จนกระทั่งเวลา 16.30 น.ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้งจาก เจ้าหน้าที่ ตม.สุรินทร์ ท่าน หนึ่ง ว่า เจ้าหน้าที่ ตม.4 ไม่ได้เดินทางมากาบเชิงแล้ว แต่ได้เดินทางไปตรวจสอบที่ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี
หลังจากนั้นในช่วงค่ำวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง จากจนท.ตม.สุรินทร์ ที่มีรายชื่อในกลุ่มที่ถูกอมเบี้ยเลี้ยง แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า ในช่วง 17.00 น.ได้มี จนท.ตม.สองคน เดินทางมาที่ ตม.สุรินทร์ แล้วเรียกให้เจ้าหน้าที่ กลุ่มที่มีรายชื่อ เข้าไปเช็นเอกสาร คนละ 1 ใบ ซึ่งไม่ทราบในรายละเอียดมากนัก แต่ละคนก็ได้เช็นกันไปทั้งหมด และก็พากันหวั่นว่า จะเป็นการช่วยเหลือ กันเอง ตำรวจผู้น้อยก็เดือดร้อนกันต่อไป อยากเรียกร้องให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ให้จริงจัง ให้ความเป็นธรรมกับตำรวจชั้นผู้น้อย ซึ่งการรับเงินไปแล้ว จะบอกว่า ได้ตกลงคืนเงิน แล้วเรื่องจบ มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง อยากให้มีการตรวจสอบหลักฐานการโอนเงิน จากบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่ง หรือตรวจสอบใบฏีกาเบิกของตำรวจผู้น้อยแต่ละคน ความจริงก็จะปรากฏ อยากให้ตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ ตม.สุรินทร์ ที่ปฏิบัติงานในชุดสืบ มี 2 ชุด ชุดละ 14 คน รวม 28 นาย เป็นเงินเบี้ยเลี้ยง ในการทำงานชุดสืบ ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาโควิด-19 เงินที่จ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยง เมื่อโอนมาให้ จนท.แล้วให้สั่งให้โอนกลับทุกบาท หากเรื่องนี้จบลง ด้วยการที่ตำรวจชั้นน้อย ต้องยอมรับสภาพ ตามที่กดดัน อยากเรียกร้องผู้บังคับบัญชาระดับสูงตรวจสอบให้ความเป็นธรรมกับทุกคน
ในขณะที่ สำนักงาม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 4 เลขที่ 239 หมู่ 3 ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ได้มีเอกสารข่าวถึงสื่อมวลชน ระบุว่า ประเด็นข่าว "กรณีตำรวจชั้นผู้น้อย ตม.สุรินทร์ 14 นาย ร้องเรียนผู้บังคับบัญชาอมเบี้ยเลี้ยง" ตามที่ปรากฏตามสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.64กรณีตำรวจชั้นผู้น้อย ตม.สุรินทร์ 14 นายร้องสื่อถูกผู้บังคับบัญชาอมเบี้ยเลี้ยงปฏิบัติงานป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 เกลี้ยง รวมกว่า 1.2 แสน แฉสั่งทุกนายให้โอนเงินคืนกลับเข้าบัญชีธนาคารของนายตำรวจระดับสารวัตร นายหนึ่ง ช่วงนั้นไม่มีใครกล้าพูด กลัวถูกเล่นงาน นั้น บก.ตม.4 สตม. ขอรายงานข้อเท็จจริงดังนี้ 1. การเบิกจ่ายเบี้ยงเลี้ยงที่ปรากฏในแชทการสนทนาตามข่าว เป็นภาพตารางการโอน เงินเข้าบัญชีของเจ้าหน้าที่ ตม.จว.สุรินทร์ จริง แต่เป็นการเบิกจ่ายเงินสำหรับการเดินทางไปราชการ สืบสวนปราบปราม ในพื้ นที่รับผิดชอบ โดยเป็นงบค่าธรรมเนียมเสริมงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งมีการเบิกจ่ายในช่วงเดือนกันยายน 2563 ไม่ใช่งบประมาณค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงาน (เบี้ยเลี้ยงโควิด - 19) ตามที่ปรากฏเป็นข่าว 2. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณสำหรับการเดินทางไปราชการเพื่อการสืบสวน ปราบปรามของ ตม.จว.สุรินทร์ ของทั้ง 2ชุดปฏิบัติการ มีกำลังพลชุดละ 14 นาย รวม 28 นาย ซึ่งทุกนายได้รับเงินเข้าบัญชีเจ้าหน้าที่โดยตรง ตามระเบียบของทางราชการครบถ้วน
ตามที่มีการขอเบิกจ่ายจริงเรียบร้อยแล้ว 3. บก.ตม.4 ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง (30 ราย) เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ หากพบว่ามีมูลกระทำผิดจริง จะดำเนินการทางอาญาและทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกนายอย่างเด็ดขาด แล้วรายงานผลให้ทราบ ภายใน 7 วัน