ไทยพบโควิด "สายพันธุ์เดลตา" ครบทุกจังหวัด เจอมากสุดที่ กทม. กว่า 97.6%
6 ก.ย. 2564, 13:30
วันที่ 6 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันได้มีการสุ่มตรวจแล้ว 13-15 ล้านตัวอย่าง และสัปดาห์ที่ผ่านมาได้สุ่มตรวจหาสายพันธุ์ จำนวน 1,577 ตัวอย่าง พบว่าเป็นโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา 75 ตัวอย่าง เดลตา 1,417 ตัวอย่าง และอัลฟา 31 ตัวอย่าง ซึ่งภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้สายพันธุ์ที่พบในไทยยังคงเป็น 3 สายพันธุ์หลัก คือ อัลฟา เดลตา และเบตา โดย 93% เป็นสายพันธุ์เดลตา พบการติดเชื้อครบทุกจังหวัด ซึ่งในพื้นที่กทม.พบสายพันธุ์เดลตา 97.6% ส่วนสายพันธุ์เบตา ยังคงจำกัดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 5.7% สัปดาห์ที่ผ่านมาพบในเขตสุขภาพที่ 12 นราธิวาส ปัตตานี ยะลา จำนวน 31 คน
ในขณะที่ทั่วโลกพบการกลายพันธุ์ของโควิด-19 นับ 100 สายพันธุ์ แต่องค์การอนามัยโลก ( WHO ) จัดลำดับการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ เฉพาะการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญ ที่ทำให้แพร่โรคง่ายและต้านวัคซีน ส่วนสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วง หรือน่าเป็นกังวล ยังคงมีเพียง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟาและเดลตา แพร่เร็วหลบวัคซีนได้เล็กน้อย ส่วนเบตาและแกรมมา (บราซิล) หลบภูมิได้มากแต่อำนาจการแพร่เชื้อต่ำ ส่วนสายพันธุ์ C.1.2 และสายพันธุ์มิว ยังไม่ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล โดยสายพันธุ์ C.1.2 พบมากในแอฟริกาใต้ สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ และแพร่ง่ายในแอฟริกาใต้ ตรวจพบ 117 ตัวอย่าง แต่การระบาดส่วนใหญ่ยังเป็นเดลตา และสายพันธุ์นี้ยังไม่พบในไทย
สำหรับสายพันธุ์ MU (B.1.621) นั้นพบว่ามีกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่น่าสนใจ กังวลการหลบหลีกภูมิคุ้มกันและดื้อวัคซีน โดยทั่วโลกยังพบน้อย พบมากสุดที่สหรัฐฯ 2,400 ตัวอย่าง โคลัมเบีย 965 ตัวอย่าง เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลเพียงพอถึงการแพร่เชื้อเร็วขึ้น ติดเชื้อง่ายขึ้นหรือไม่ ส่วนการหลบภูมิต้านทาน และการต้านวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ ในภาพรวมจึงยังไม่น่าวิตกแต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด