นายกฯ จ่อถกผู้นำลุ่มแม่น้ำโขง ย้ำเชื่อมโยงเศรษฐกิจควบคู่ความปลอดภัยทางสาธารณสุข
8 ก.ย. 2564, 14:45
วันที่ 8 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 7 (The 7th Greater Mekong Subregion: GMS Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อ “GMS: พลิกฟื้นความแข็งแกร่งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในทศวรรษใหม่” (GMS: Renewed Strength to Face the Challenges of the New Decade) โดยกัมพูชาร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม รวมทั้งประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย สภาธุรกิจของกลุ่มประเทศ และตัวแทนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ในการประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสให้ไทยย้ำบทบาทและความร่วมมือในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งไทยให้การสนับสนุนมาโดยตลอด และไทยจะได้เน้นย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศสมาชิกฯ ตลอดจนนักลงทุนต่างชาติ เช่น การส่งเสริมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างอนุภูมิภาคฯ และโลก การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ให้ความสำคัญกับด้านสาธารณสุขเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับอนุภูมิภาคฯ จากโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นําแผนงาน GMS ครั้งที่ 7 นี้จะได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ได้แก่
1.ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นํา 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7
2.ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และ
3.ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2566