เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ชลประทาน ร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปี


10 ก.ย. 2564, 16:44



ชลประทาน ร่วมขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ 20 ปี




วันนี้ ( 10 ก.ย.64 ) ที่ห้องประชุม SWOC กรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน  และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ผ่านระบบ VDO Conference  โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นประธานการประชุมฯ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และการช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนร่วมพิจารณาการดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ตามข้อสั่งการของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  ที่ให้กรมชลประทาน เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณหน้าโรงพยาบาลและหน้าอำเภอบางบ่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมกับตัดยอดน้ำทางตอนบนและติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำผ่านคลองต่างๆ อาทิ คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสำโรง ไปลงแม่น้ำบางปะกงที่ปัจจุบันมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง ก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยตามลำดับ ช่วยลดปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่าง และใช้สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร สถานีสูบน้ำแนวคลองชายทะเล 9 จุด เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้ได้รวมกันไม่น้อยกว่า 20  ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่คลี่คลายโดยเร็วที่สุด

สำหรับโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญที่มีความพร้อมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2566 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 2 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น 1 ในโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  มีแผนการดำเนินงาน 6 ปี (2565-2570) โดยในปี 2565 จะดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านการมีส่วนร่วมและจัดหาที่ดิน และเริ่มก่อสร้างในปี 2566-2568  จากนั้นจะดำเนินการวางระบบส่งน้ำในปี 2568-2570   หากโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นประมาณ 35,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในเขตพื้นที่ EEC ได้ประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม./ปี รวมทั้งยังใช้ผลักดันน้ำเค็ม รักษาระบบนิเวศได้ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม./ปี อีกด้วย 



ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ กรมชลประทาน ดำเนินการเร่งรัดจัดหาที่ดิน เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด พร้อมให้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIMP)อย่างเคร่งครัด 

สำหรับโครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จังหวัดระยอง ระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี (2565-2568) ในปี 2565 จะดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านการมีส่วนร่วมและจัดหาที่ดิน ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566-2568 หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม./ปี เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากโครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 1 จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ ได้มากถึง 100 ล้าน ลบ.ม./ปี  ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้กรมชลประทาน เร่งรัดออกแบบและจัดหาที่ดินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผน พร้อมให้วางแผนบริหารจัดการโครงการเพิ่มปริมาณน้ำและกิจกรรมใช้น้ำจาก อ่างเก็บน้ำประแสร์ ให้เกิดความสมดุล ที่สำคัญให้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมกับผู้ใช้น้ำในพื้นที่เพื่อลดความขัดแย้งในการสูบน้ำต่อไปในอนาคต  ซึ่งกรมชลประทาน จะวางแผนและเร่งดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.