เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ปภ.ประสาน 44 จว.เตรียมรับมือฝนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 11-14 ก.ย.นี้


11 ก.ย. 2564, 17:35



ปภ.ประสาน 44 จว.เตรียมรับมือฝนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 11-14 ก.ย.นี้




วันที่ 11 กันยายน 2564 เวลา 17.00 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 44 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 12-14 ก.ย. 2564 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำหรับประชาชนขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด



นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 8 (132/2564) ลงวันที่ 11 กันยายน 2564 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในวันที่ 12 กันยายน 2564 ขณะที่มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กอปภ.ก.โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งไปยัง 44 จังหวัด เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 12-14 กันยายน 2564 แยกเป็น 

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้้าท่วมฉับพลัน และน้้าป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2564 ได้แก่ 
- ภาคเหนือ 10 จังหวัด (แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี) 
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด (เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) 
- ภาคกลางและภาคตะวันออก 12 จังหวัด (ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด) 

ขณะที่ภาคใต้ 2 จังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 11-14 กันยายน 2564 ได้แก่ ระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์ สุขสำราญ) พังงา (อ.เกาะยาว ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง คุระบุรี ท้ายเหมือง)


ทั้งนี้ ได้กำชับให้จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังปริมาณฝนสะสมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมืองที่อาจได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมถึงประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานพลเรือน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายอาสาสมัคร และจิตอาสาเพื่อแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนทันทีที่เกิดภัย นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำเรื่องการแจ้งเตือนภัยให้เข้าถึงประชาชนรวดเร็วและทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่ ทั้งหอเตือนภัย หอกระจายข่าว และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม อีกทั้งสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยผ่านทุกช่องทาง ทั้งสื่อสังคม ออนไลน์ วิทยุชุมชน หอเตือนภัย และหอกระจายข่าว เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยที่้อาจเกิดขึ้นในพื้นที่






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.