ป.ป.ช.เร่งสอบปมใช้เครื่องบินตำรวจ ลักลอบขนเหล้าเถื่อน ยันให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
13 ก.ย. 2564, 15:05
จากกรณีหลังมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า อาจมีเจ้าหน้าที่ ใช้เครื่องบินตำรวจลักลอบขนเหล้าหนีภาษีเข้าประเทศ ล่าสุดตรวจสอบพบเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นปี 61 ก่อนจะรับร้องเรียนเมื่อ 63 ล่าสุดระหว่างการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง ของอนุฯ กลั่นกรอง ก่อนชง ป.ป.ป.ชุดใหญ่ตั้งชุดไต่สวนหรือไม่
ภาพถุงดำหลายสิบถุง พร้อมลังเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยี่ห้อหนึ่ง บนเครื่องบินสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกนำมาเผยแพร่ในเฟสบุ๊กแฟนเพจ "ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน"
พร้อมระบุข้อความ ใจความว่า “เครื่องบินตำรวจขนเหล้าเถื่อนมาเลย์ โดยมีนายตำรวจใหญ่ระดับผู้บังคับการรายหนึ่งได้ขนเหล้าและเบียร์หนีภาษีเข้ามาบริเวณด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา ใช้เครื่องบิน 2 ลำ สลับกันในการบินแต่ละครั้ง มีทั้งเครื่องบินแบบคาซ่ารุ่น CN235-220M และเครื่องบินแบบ FALCON รุ่น 2000 ของกองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการบินลำเลียงเหล้าเถื่อนจากสนามบินหาดใหญ่ ไปยังกองบินตำรวจที่กรุงเทพฯ” ทำให้หลายคนต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
คืบหน้าล่าสุด นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. บอกถึงความคืบหน้ากับทีมข่าวช่องวัน 31 ว่า ตรวจสอบภาพดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 แต่มีผู้เข้ามาร้องเรียน กับสำนักงานป.ป.ช. เมื่อเดือนตุลาคมปี 2563 ซึ่ง ป.ป.ช.ไม่สามารถเปิดเผยถึงตัวบุคคลผู้ร้องเรียนได้
เบื้องต้นผู้ร้อง ขอให้ป.ป.ช. ตรวจสอบ 2 ประเด็น คือ
1.กล่าวหาว่าใช้เครื่องบินขนของเถื่อน จริงหรือไม่
2.กล่าวหาเรื่องการเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงในการใช้เครื่องบินฝึกลำดังกล่าวเพื่อเดินทางไปในประเทศอินโดนีเซีย ว่าเป็นเท็จ
เรื่องดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ของอนุกรรมการกลั่นกรอง ว่าจะเข้าข่ายหรือมีหลักฐานเพียงพอให้ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ไต่สวนหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ของกลางที่เห็นบนเครื่องบิน เป็นของหนีภาษีตามที่ถูกกล่าวอ้างจริงหรือไม่
โดยรองเลขาฯ ป.ป.ช.มองว่า แม้ไม่ใช่การลักลอบขนของหนีภาษี หรือจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรใช้เครื่องบินหลวง รถหลวงในการขนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เว้นแต่ เป็นของกลางที่ถูกจับกุม เพื่อนำมาเป็นหลักฐานขยายผลทางคดี
หาก ป.ป.ช. ชุดใหญ่รับไต่สวน และตรวจสอบพบว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องมีความผิดจริง มีความผิดทั้งทางอาญา วินัย และจริยธรรม ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำหน้าที่โดยมิชอบ และไม่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ทำให้หน่วยงานราชการได้รับความเสียหาย โดยอาจใช้กรอบระยะเวลาในการตรวจสอบประมาณ 1 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ร้องและ ผู้ถูกกล่าวหา ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติม ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย