"กรมชลประทาน" แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฉ.3 ชี้ชัด! มีแนวโน้มระบายน้ำสูงถึง 1,500 ลบ.ม./วินาที
14 ก.ย. 2564, 08:20
วันที่ 14 กันยายน 2564 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งด่วน ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ฯ ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งติดแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย (ออกหนังสือทางราชการแจ้งเตือน กลางดึกของคืนวันที่ 13 กันยายน ) โดยคาดการณ์ชัดเจนได้ว่า ปริมาณน้ำเหนือไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ที่ประมาณ 1,800 - 1,900 ลบ.ม./วินาที และยังมีมวลน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ของ จ.อุทัยธานี ได้ไหลมาสมทบ
ทั้งนี้ ได้มีการตัดยอดมวลน้ำเหนือ ก่อนถึงหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ให้เข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที ไปแล้ว แต่มวลน้ำทั้งหมดจำนวนมาก ไหลมารวมอยู่ที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา
ดังนั้น จำเป็นต้องปรับเพิ่มการปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไปที่ 700-1,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ ระดับน้ำท้ายเขื่อน เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ซึ่งอาจเพิ่มสูงที่สุดถึง 2 เมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ติดแม่น้ำน้อย อันเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นที่ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง ของ อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง ของ อ.ผักไห่ รวมถึง บางตำบลของ อ.บางบาล และ อ.บางไทร ในช่วงวันที่ 15 - 18 กันยายนนี้
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ยืนยันว่า จะไม่ปล่อยน้ำเกินกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที ในช่วงนี้ และจะได้บริหารควบคุมปริมาณ การระบายน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อยที่สุด