นายกฯ มอบ "รมช.สันติ" บินตรวจน้ำท่วมเพชรบูรณ์ แจกถุงยังชีพ
14 ก.ย. 2564, 19:19
นายกรัฐมนตรี มอบ รมช.สันติ เกาะติดสถานการณ์เร่งหน่วยงานระดมช่วยเหลือ 11 ตำบล ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม ต.ตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ พร้อมจัดถุงยังชีพถึงมือประชาชนหลังฝนตกต่อเนื่องและนำสารจาก นายกฯ ส่งความห่วงใย มอบกำลังใจให้ประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานร่วมแก้ปัญหาน้ำเอ่อล้นท่วมกว่า 2,000 ครัวเรือนใน 11 ตำบล อำเภอหล่มสักและเขตเทศบาลฯ กำชับหน่วยงานท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือจัดทำแผนเร่งระบายน้ำ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.ตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของจำเป็น จำนวน 1,000 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน หลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของอำเภอหล่มสัก จากปริมาณฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 9 -11 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้บ้านเรือนได้รับผลกระทบจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก เป็นผลทำให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นในพื้นที่วงกว้าง การสัญจรของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก มีผลต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งรัฐบาลจะเร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ครั้งนี้โดยได้นำสารจากนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อสร้างขวัญและกำลังใจในการต่อสู้กับความยากลำบากที่เกิดขึ้นในช่วงที่วิกฤตมามอบให้กับประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนและอาสาสมัครในการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทางรัฐบาลยินดีและพร้อมเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลังพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคตโดยการเสนอผ่านหน่วยงานระดับจังหวัดและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่
ทั้งนี้จากการได้รับรายงานสถานการณ์อุทุกภัยในพื้นที่อำเภอหล่มสัก พบว่ามีประชาชนกว่า 2,000 ครัวเรือน จาก 11 ตำบล 62 หมู่บ้าน รวมเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก 11 ชุมชน ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่โดยรวมได้เริ่มลดระดับลง เนื่องจากทางจังหวัดเพชรบูรณ์ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งอัตราการไหลของน้ำให้เร็วขึ้น น้ำจึงระบายออกจากพื้นที่ประสบภัยได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามทางจังหวัดฯ ได้มีแผนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งในอนาคต เพื่อเป็นการสร้างทางระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพต่อไป