ชป.งัดแผนรับน้ำเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง
19 ก.ย. 2564, 15:07
วันนี้ ( 19 ก.ย.64 ) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามความคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน ในช่วงระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2564 นี้ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบางแห่ง ในทุกภาคของประเทศไทย ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกล เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำยังจุดเสี่ยงต่างๆ และตรวจสอบสภาพของอาคารชลประทานให้อยู่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และหาแนวทางเก็บกักน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากนี้สำรองไว้ใช้ในฤดูแล้วหน้าต่อไป ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงบริเวณ จ.กำแพงเพชร ทำให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำปิงมากขึ้น ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นในอัตรา 1,808 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 4.14 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก่อนจะไหลหลากลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งมีการปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ 1,400 ลบ.ม./วินาที ทำให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนระดับน้ำจะสูงขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบของประชาชน ด้วยการจัดจราจรน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา โดยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง(คลองชัยนาท-ป่าสัก , คลองชัยนาท-อยุธยา ,คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน และเเม่น้ำน้อย) ในอัตรารวมกัน 425 ลบ.ม./วินาที ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้มีการรับน้ำเข้าแม่น้ำลพบุรี และคลองบางแก้ว ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำน้อยและคลองโผงเผง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ในเขต อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะช่วยลดระดับน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งได้