เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สนธิกำลังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ตรวจสอบถนนตัดผ่านพื้นที่ป่าชายเลน บ้านทุ่งขี้เหล็ก


7 มิ.ย. 2562, 17:16



สนธิกำลังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ตรวจสอบถนนตัดผ่านพื้นที่ป่าชายเลน บ้านทุ่งขี้เหล็ก




เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เจ้าหน้าที่สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สนธิกำลังกันหลายฝ่าย ทั้ง กอ.รมน., ชุดสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 4 (ภาคใต้), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.), ชุดปฏิบัติการฉลามขาว, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง, อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, ชุดป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ร่วมลงพื้นที่หมู่ 6 บ้านทุ่งขี้เหล็ก ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง เพื่อตรวจยึดถนนหินคลุก ขนาดกว้างประมาณ 15 เมตร  ซึ่งมีการขยายจากถนนเดิมที่กว้างเพียง 6 เมตร ตัดผ่านพื้นที่ป่าชายเลนระยะทางประมาณ 1.35 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางถนนทางเข้าท่าเรือส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นของบริษัทเอกชนรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัด และจับค่าพิกัดจีพีเอสถนนเส้นทางดังกล่าว ที่ก่อสร้างโดยไม่ได้ขออนุญาตจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่อนุญาตให้ทำการก่อสร้างโดย นายพีระพนธ์ ลังเมือง นายก อบต.เขาไม้แก้ว ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2559  โดยอนุญาตให้ก่อสร้างปรับปรุงถนนสายช่องราโพธิ์-ทุ่งขี้เหล็ก-ต้นม่วง กว้าง 12 เมตร ยาว 2,779 เมตร แต่เมื่อทำจริงกลับกว้างถึง 15 เมตร เพื่อใช้สำหรับการปักเสาพาดสายไฟตลอดแนวถนนจนถึงท่าเรือ ซึ่งถือเป็นการบุกรุกป่าชายเลนเป็นระยะทาง 1.35 กม. คิดเป็นเนื้อที่ 17 ไร่ 1 งาน 60.5 ตารางวา อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
 

ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดและจะเข้าแจ้งความดำเนินคดี ทั้งคดีอาญา และคดีแพ่ง กับบริษัทเอกชนดังกล่าว รวมทั้ง นายพีระพนธ์ ลังเมือง นายก อบต.เขาไม้แก้ว ในข้อหาร่วมกันทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะสนธิกำลังเข้าไปตรวจสอบ ได้ติดต่อประสานไปยังนายก อบต.เขาไม้แก้ว เพื่อให้มาร่วมให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ถูก นายพีระพนธ์ ปฏิเสธอ้างว่าไม่มีหนังสือมา จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงได้นำหนังสือไปให้ที่ อบต.เขาไม้แก้ว และ นายพีระพนธ์ ก็ไม่ได้ตามเข้าร่วมให้ข้อมูลแต่ประการใด

จากนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้เดินทางต่อไปยังบริเวณสถานที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือขนส่งแร่ยิปซั่มเพื่อการส่งออก และพบการขุดดินโคลนจากลำคลองสาธารณะขึ้นมาถมเต็มบริเวณพื้นที่ท่าเทียบเรือ พร้อมทั้งได้มีการปิดป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้าก่อนได้รับอนุญาต และปิดประตูรั้วไว้ โดยไม่มีคนงานทำงานแม้แต่คนเดียว เจ้าหน้าที่จึงต้องงัดคำสั่ง คสช. ให้ผู้จัดการซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทเอกชนรายเดียวกัน เป็นคนรับทราบคำสั่ง และยอมเปิดประตูให้เข้าไปตรวจสอบภายใน โดยได้อ้างสิทธิ์การก่อสร้างถูกต้องตามเอกสาร น.ส.3 ก.เลขที่ 495 เนื้อที่รวม 71 -3 -99 ตารางวา ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สัมปทานหลุมถ่านเก่า จากนั้นได้แปรเปลี่ยนมาเป็นบ่อกุ้ง และคนครอบครองเดิมได้ขายต่อมาให้บริษัทเอกชน
 



เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวนี้เกือบทั้งหมด อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองกะลาเส-ป่าคลองไม้ตาย และบางส่วนเป็นพื้นที่ป่าชายเลน  เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการเดินตรวจจับพิกัด GPS รอบแปลง และใช้โดรนบินสำรวจ เพื่อนำไปตรวจสอบกับพื้นที่ครอบครองจริงตามเอกสาร น.ส.3 ก. ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีการทำประโยชน์ จำนวน 66 ไร่ ยังไม่เกินพื้นที่ครอบครอง แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องนำข้อมูลที่ได้ไปแปรภาพถ่ายทางอากาศ และตรวจสอบกับสารบบที่ดินถึงที่มาของเอกสารสิทธิ์ฉบับดังกล่าวด้วยว่า ได้มาอย่างไร เนื่องจากเบื้องต้นพบว่าเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งไม่น่าจะมีการขอออกเอกสารสิทธิ์ได้

สำหรับในส่วนของการก่อสร้างงท่าเทียบเรือขนส่งแร่ยิปซั่มเพื่อการส่งออก เจ้าหน้าที่เจ้าท่าภูมิภาค สาขาตรัง ชี้แจงว่า ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแล้ว โดยมีการขออนุญาตขุดลอกร่องน้ำ และขอก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาด 500 ตันกรอส แต่ในการก่อสร้างจริงทางบริษัทเอกชนได้ขออนุญาตสร้างในพื้นที่เอกสารสิทธิ์ โดยไม่ให้รุกล้ำลำน้ำ และการก่อสร้างท่าเรือขนาด 500 ตันกรอส ไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โดยเจ้าหน้าที่จะทำการสอบแนวเขตให้ชัดเจนต่อไปว่า สร้างจริงตามขนาดที่แจ้งหรือไม่ และตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิ์ด้วยว่าได้มาโดยชอบหรือไม่


 

 

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.