นครบาล ยันเอาผิดกลุ่มก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง รวบ 16 รายป่วนนางเลิ้ง
20 ก.ย. 2564, 15:36
วันที่ 20 ก.ย. 64 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงการชุมนุมในวันนี้ว่า มีการนัดหมายของกลุ่มทะลุแก๊ส บบช.น.ขอเตือนว่าพื้นที่กรุงเทพฯเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดการรวมตัวหรือมั่วสุม เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรคจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและพรบ.ควบคุมโรค
สำหรับการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมามี 2 กลุ่ม คือกลุ่มของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จัดกิจกรรมคาร์ม็อบโดยเริ่มที่แยกอโศก ปลายทางที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการจัดกิจกรรมปิดการจราจรใช้ผ้าดำคลุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่เวลา 18.00 น. จะประกาศยุติการชุมนุมโดยภาพรวมถือว่าเหตุการณ์ปกติ แต่ระหว่างการเคลื่อนขบวนเวลาประมาณ 15.15 น. ที่บริเวณหน้าประตูศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีรถจักรยานยนต์ของกลุ่มผู้ชุมนุมขับมาและเกิดหกล้ม ก่อนที่จะเกิดระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 4 คน เจ้าหน้าที่อีโอดีเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ เชื่อว่าหนึ่งในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บพกพาอาวุธระเบิดมาด้วย เมื่อรถประสบอุบัติเหตุล้มลงทำให้เกิดระเบิดขึ้น ขณะนี้ผู้บาดเจ็บทั้งหมดถูกนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ หากการสอบสวนพบว่าผู้บาดเจ็บพกระเบิดเข้ามาในสถานที่ชุมนุมจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและวัตถุระเบิด อีกส่วนหนึ่งด้วย
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มทะลุแก๊ส นัดหมายกันที่สามแยกดินแดง ก่อนจะเคลื่อนมวลชนไปชุมนุมที่แยกนางเลิ้งมีการจุดพลุเพลิง พลุไฟ ประทัดยักษ์ ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นมีการเผาตู้จราจรที่แยกนางเลิ้งและแยกยมราชได้รับความเสียหายและในระหว่างที่เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน กำลังตรวจสอบที่เกิดเหตุ ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทุบทำลายรถและเผาเอกสารราชการที่มีความสำคัญต่อคดี ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้ก่อเหตุได้ทั้งหมด 16 คนดำเนินคดีข้อหา มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ(ป.อาญา ม.215), เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกแล้วไม่เลิกฯ (ม.216), ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ (ม.138), ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ (ม.217) และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม (21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น) และความผิดอื่นๆที่เกี่ยวข้องเป็นรายๆไป ซึ่งกรณีอาวุธปืนของกลางดังกล่าว” รอง ผบช.น.กล่าว ในการชุมนุมตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันดำเนินคดีไปแล้ว 219 คดี มีผู้กระทำความผิดจำนวน 797 คน สามารถจับกุมได้แล้ว 552 คน
รอง ผบช.น. กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มก่อความไม่สงบ ได้ทำลายทรัพย์สินของราชการเสียหายจำนวนมาก เป็นตู้จราจรจำนวน 10 แห่ง ระบบควบคุมสัญญาณจราจรถูกทำลายเสียหาย กล้องวงจรปิด 40 ตัว รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เสียหาย 50 คัน ตู้ควบคุมระบบไฟ ระบบระบายน้ำระบายอากาศอุโมงค์ดินแดงได้รับความเสียหาย ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นภาษีของประชาชนทั่วประเทศ
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่โดยใช้เจ้าหน้าที่จาก สน.ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และจะมีการปรับแผนการดำเนินการ บังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเข้าระงับยับยั้งที่อาจเกิดเหตุบานปลายซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องมีการปรับแผนทุกวัน ขณะเดียวกันก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับกลุ่มต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังของผู้ชุมนุมด้วย