ชาว อ.รัตนบุรี เข้าวัดทำบุญเดือนสิบส่งอาหารให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ
22 ก.ย. 2564, 14:01
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เมื่อวานนี้ ( 21 ก.ย.64 ) ชาวบ้านไผ่ ต.ไผ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ผู้คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายลาว นับถือศาสนาพุทธ เคารพนับถือศาลเจ้าหลวงปู่แพงสรรพสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ก่อที่ตั้งหมู่บ้านเป็นคนแรก สร้างอยู่ในบริเวณวัด ในบุญเดือนสิบ ขึ้น 1 ค่ำ ที่ ศาลาวัดเลียบบ้านไผ่ ต.ไผ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ชาวบ้านตำบลไผ่และหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวน 6 หมู่บ้าน ต่างได้สวมแมสก์ปฏิบัติตัวตามหลักมาตรการสาธารณสุข ป้องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เว้นระยะห่าง มาร่วมกันประกอบพิธีทำบุญเนื่องในวันสารท หรือบุญข้าวสาก เป็นการทำบุญกลางปี อุทิศกุศลให้กับญาติ ๆ ผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยมีความเชื่อว่า ญาติผู้ล่วงลับ จะถูกปล่อยให้มารับอาหาร การกิน และบุญกุศลต่าง ๆ จากญาติที่อุทิศส่วนกุศลไปให้ ในวันสิ้นเดือนสิบ
การทำบุญเดือนสิบครั้งนี้ ชาวตำบลไผ่ ยังมีความเชื่ออีกว่า นอกจากจะอุทิศบุญให้กับญาติ ๆ ผู้ล่วงลับไปแล้วยังเป็นการทำบุญให้กับผีไร้ญาติที่จะมาขอส่วนบุญด้วย ส่วนอาหารที่นำไปทำบุญจะเป็นการทำข้าวกระยาสารท หรือข้าวสาก ที่ประกอบด้วยเครื่องปรุง เช่น ข้าวเม่า ถั่ว งา น้ำตาล น้ำอ้อย เป็นต้น การที่จะอุทิศบุญกุศลให้ญาติ ๆ ผู้ล่วงลับไปแล้วให้ได้กินนั้น ชาวบ้านจะนำข้าวกระยาสารทหรือเรียกกว่าข้าวสาก นำไปห่อด้วยใบตองกล้วยรวมกับอาหารอื่น ๆ ประกอบด้วยปลา 1 คู่ ข้าวสุก ผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ แล้วเขียนชื่อญาติ ๆ ผู้ล่วงลับใส่ลงในห่อข้าวสาก หลังจากพระสงฆ์ประกอบพิธีเสร็จก็จะ ทำการแก้ห่อมัดห่อกระยาสารทออกมาฉัน (รับประทาน) จนครบทุกห่อ
ห่อข้าวสารทคนใดที่ผ่านพระภิกษุสงฆ์เปิดฉันแล้ว ( รับประทานแล้ว ) ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เหลือ ไปเซ่นไหว้ ผีตาแฮก ที่หัวไร่ปลายนา ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้นข้าวกำลังกลมและตั้งท้องอ่อน ๆ ชาวบ้านเชื่อว่าแม่โพสพกำลังตั้งท้องจึงต้องการอาหารเสริมมาก ซึ่งอาหารที่สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการเลี้ยงแม่โพสพประจำไร่นา คือ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ผลมะขามอ่อน ส้ม ซึ่งเชื่อว่าแม่โพสพเกิดอาการแพ้ท้องจึงต้องการกินของเปรี้ยว ๆ พิธีกรรมทั้งหมดในบุญเดือนสิบ ของชาวบ้านไผ่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ จึงเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าทำแล้ว จะเกิดพลังใจให้กับตนเอง ทำให้ต้นข้าวในนาเจริญงอกงามและให้ผลผลิตที่ดีและความเป็นสิริมงคลกับชีวิตและครอบครัวที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานวิถีชีวิตชาวนาบ้านไผ่ ก็ไม่ต่างจากวิถีชาวนาในภาคอื่น ๆ ที่ไม่เพียงพึ่งพา ฝนฟ้า ตามธรรมชาติอย่างเดียว ความเชื่อและพิธีกรรมจึงถือเป็นพลังใจสำคัญยิ่งอีกอย่างหนึ่งที่ทิ้งไม่ได้เช่นกัน