องคมนตรีตรวจเยี่ยม และติดตามการดำเนินงาน "มูลนิธิโครงการหลวง" ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
7 มิ.ย. 2562, 17:29
วันนี้ ( 7 มิ.ย.62 ) พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาอาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ 8 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากร 1,029 ครัวเรือน เป็นชาวเขาเผ่าม้ง และชาวพื้นเมือง มุ่งพัฒนาส่งเสริมการปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอกกระถาง และพืชไร่ รวม 31 ชนิด สร้างรายได้กว่า 10 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะผลผลิตงาดำ นอกจากการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก ได้มีการแปรรูปเป็นน้ำมันงาดำ ซึ่งรับชื้อผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรในโครงการ มีขั้นตอน กระบวนการแปรรูปเพื่อให้ได้ซึ่งผลิตภัณฑ์โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีจำหน่ายในร้านโครงการหลวงสาขาต่างๆ
จากนั้น องคมนตรีเดินทางไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ การดำเนินงานหลักของโครงการ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดต่างๆ ผลผลิตหลัก ได้แก่ อาโวคาโด ผักอินทรีย์ และงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร ภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ซึ่งเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตผ่านโครงการหลวง 28 ชนิด มูลค่ากว่า 14 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์กุหลาบทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 200 สายพันธุ์ โดยจัดแสดงอยู่ในพื้นที่สวนกุหลาบ โครงการหลวงทุ่งเริง ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมทุกวัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการขยายพันธุ์กุหลาบและการปลูกบำรุงดูแลรักษาต้นกุหลาบอีกด้วย
จากนั้น ได้ไปยังสถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โครงการหลวงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ วิจัย พร้อมทั้งเป็นแหล่งส่งเสริมการสร้างอาชีพ แก่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุกแห่ง ยังมีภารกิจสำคัญคือ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากการตรวจเยี่ยมและติดตามฯ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้เน้นย้ำให้ทุกแห่งทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในการดูแลรักษาป่า ไม่ให้เกิดการบุกรุกทำลาย ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันปลูกป่าชาวบ้าน ตามแนวทางของโครงการหลวง และพระราชดำรัส ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น คือ ประโยชน์อย่างที่ 4 เกิดจากการปลูกป่า 3 อย่าง ทำให้เกิดความร่มเย็น ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ดินและน้ำให้กลับอุดมสมบูรณ์ เกิดการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทย เนื่องจากประชาชนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าจากการใช้ประโยชน์ของป่าไม้ที่ปลูก เป็นการช่วยกันดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน