นายกฯ ยินดีดิจิทัลไทยพัฒนาก้าวกระโดด อันดับ 44 จาก 110 ประเทศ
27 ก.ย. 2564, 12:15
วันที่ 27 กันยายน 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการวิจัยดัชนีคุณภาพชีวิตดิจิทัลของไทย ยินดีที่ไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดดจากปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากการวิจัยของบริษัท Surfshark บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระบุว่า “ไทย” ติดอันดับ 44 จาก 110 ประเทศที่มีคุณภาพอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดในโลก ในดัชนีคุณภาพชีวิตดิจิทัล 2021 (Digital Quality of Life Index: DQL) ในดัชนีคุณภาพอินเทอร์เน็ต พิจารณาจากความเร็วและความน่าเชื่อถือของการเชื่อมต่อเน็ตบรอดแบรนด์และมือถือ และเป็นลำดับที่ 4 ในภูมิภาคอาเซียน ลำดับที่ 11 ในเอเชีย
การจัดอันดับดังกล่าวครอบคลุม 90% ของประชากรโลก หรือมากกว่า 6.9 พันล้านคน โดยประเมินประเทศต่าง ๆ ตามหลักด้านสุขภาพดิจิทัลขั้นพื้นฐาน 5 เสาหลัก ได้แก่ คุณภาพอินเทอร์เน็ต ความสามารถในการจ่ายอินเทอร์เน็ต โครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ ความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นองค์ประกอบหลักและอีก 14 ตัวบ่งชี้สนับสนุน โดยประเทศไทยมีคุณภาพอินเทอร์เน็ตเป็นเลิศ (อันดับที่ 19) แต่แสดงผลลัพธ์ที่ค่อนข้างต่ำในด้านความสามารถในการจ่ายอินเทอร์เน็ต (อันดับที่ 58) โครงสร้างพื้นฐานอิเล็กทรอนิกส์ (อันดับที่ 46) ความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ (อันดับที่ 63) และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อันดับที่ 51)
อย่างไรก็ดีประเทศไทยได้แสดงให้เห็นหนึ่งในการปรับปรุงที่สำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับ DQL 2020 โดยกระโดดขึ้นมา 19 อันดับจากอันดับที่ 63 มาอยู่ที่อันดับที่ 44 โดดเด่นในด้านคุณภาพอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ความเร็วมือถือของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 81% อยู่ที่ 40.79 Mbps เป็นอันดับที่ 22 ของโลก ในขณะเดียวกันความเร็วบรอดแบรนด์เพิ่มขึ้น 29% อยู่ที่ 189.54 Mbps อยู่ในเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งนี้ 5 ประเทศแรกของโลกได้แก่ เดนมาร์ก เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ทั้งนี้โฆษกรัฐบาล กล่าวย้ำว่า รัฐบาลมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง ปลอดภัย และมีบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ความเร็วสูงที่สามารถเข้าถึงและพร้อมใช้แก่ประชาชนที่ครอบคลุมพื้นที่ทุกหมู่บ้าน พื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนาบริการและแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการบริการจัดการภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน การอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการในการให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม รวดเร็ว โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งถือเป็นการเดินตาม 1 ใน 5 ด้านแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อไปสู่การพลิกโฉมประเทศไทยตาม (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อก้าวเดินต่อไปในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า