รองผู้ว่าฯ สระบุรี ประธานพิธีรับมอบเวชภัณฑ์ เตรียมความพร้อมรับการระบาดของโรคลัมปี สกิน
29 ก.ย. 2564, 17:28
วันพุธที่ 29 กันยายน 2564 ณ ลานอเนกประสงค์ บริษัทฮอลแลนด์มิลล์ จำกัด ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นางอังคณา ชิตะติตติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานพิธีรับมอบเวชภัณฑ์เพื่อเตรียมความพร้อมรับการระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) แก่กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงโคในอำเภอมวกเหล็ก
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ระบาดในโค กระบือ พบได้ในทุกช่วงอายุ ที่พบคือมีตุ่มก้อนแข็งและเป็นสะเก็ดที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต มีไข้ เบื่ออาหาร โดยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นคือ น้ำนมลดลง โคขุนแคระแกร็น แม่โคมีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ผสมไม่ติดโคอายุน้อยมักอาการรุนแรงและเสียชีวิต อัตราการป่วย 5-45% อัตราการตายน้อยกว่า 10% ติดต่อโดยมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ เช่น ยุง ริ้น แมลงวันคอก เป็นต้น รวมทั้งการติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับสะเก็ดแผล น้ำมูก น้ำเชื้อ น้ำลายของโค กระบือที่เป็นโรค รักษาโดยให้ยารักษาตามอาการ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี ได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกิน อย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ได้แก่ ประกาศเขตโรคระบาดเพื่อการบังคับใช้กฎหมาย เฝ้าระวังโรคและค้นหาสัตว์ป่วยเพิ่มเติม ร่วมกับด่านกักกันสัตว์
สระบุรีตั้งพ่นยาฆ่าเชื้อโรค ยาฆ่าแมลง และควบคุมการเคลื่อนย้าย รวมถึงประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้กับเกษตรกรทราบสถานการณ์และการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม แต่เนื่องจากการเลี้ยงโคกระบือในพื้นที่จังหวัดสระบุรี มีการเลี้ยงอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะโคนมทำให้การควบคุมโรค
เป็นไปด้วยความยากลำบากและโรคแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 - ปัจจุบัน มีรายงานการเกิดโรคในโคเนื้อและโคนม ในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสาไห้ วังม่วง อำเภอเมือง แก่งคอย มวกเหล็ก พระพุทธบาท เฉลิมพระเกียรติ หนองโดน หนองแชง และดอนพุด โดยมีรายงานสัตว์ป่วยสะสม จำนวน 419 ตัว เกษตรกร 124 ราย สัตว์ตายสะสม 39 ตัว เกษตรกร 35 ราย ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ และในโคนมจะส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลงเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจด้านปศุสัตว์เป็นอย่างมาก
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีได้ขอรับการสนับสนุนเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการรักษารักษาและควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกิน ได้แก่ ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ยาแก้อักเสบลดไข้ชนิดฉีด
ยาบำรุงชนิดฉีด ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลง และผลิตภัณฑ์ยาฆ่าเชื้อโรค จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรีได้ดำเนินการจัดซื้อเวชภัณฑ์ดังกล่าวและได้มอบให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรีนำไปใช้ช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป