"เลขาฯ ส.ค.ท." นำครู 4 ภาค หนุน รมว.ศึกษาธิการ ยุบศึกษาธิการจังหวัด - ศึกษาธิการภาค
29 ส.ค. 2562, 13:09
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนพร้อมด้วยผู้นำครู 4 ภาคจากทั่วประเทศ ได้เดินทางไปประชุมร่วมกันที่ห้องวชิราวุธ อาคารกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาการศึกษาและวิชาชีพครู โดยมี ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ร่วมรับฟังความคิดเห็นที่พวกตนและคณะได้เสนอขอให้ยับยั้งการนำเสนอและประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....ซึ่งเป็น พ.ร.บ.ที่ขาดการมีส่วนร่วม และไม่ตอบสนองต่อการจัดการศึกษาชาติ และขอให้จัดทำร่างใหม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมคิดร่างและจัดการศึกษา
จากนั้น ตนและคณะ ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอข้อเรียกร้อง 8 ข้อของครูต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อทราบ และนำไปสู่การขับเคลื่อนการศึกษาอย่างมีคุณภาพต่อไป
นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวต่อไปว่า ตนและผู้นำครู 4 ภาคขอให้การสนับสนุน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เสนอให้ยุบศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาค เนื่องจากว่าโครงสร้างนี้ไม่มีส่วนในการยกระดับคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด มีการทำงานที่ทับซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษาและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานทั้ง 2 ในระดับพื้นที่
อีกทั้ง ขณะนี้ศึกษาธิการจังหวัดบางจังหวัดบ้าอำนาจอย่างหนักหลงตนเองคิดว่าเป็นนายของ ผอ.เขตและนายของผู้บริหาร ร.ร.รวมทั้งครูทุกคนในจังหวัด มีเหตุอะไรขึ้นมานิดหน่อยก็แจ้งให้ ผอ.เขตสั่งตั้งกรรมการสอบสวนครูอย่างเดียวไม่มีการประสานงานกับผู้นำครูเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เอาแต่ระเบียบกฎหมายมาขู่ครูและข้าราชการในสำนักงาน แบบนี้จะเก็บเอาศึกษาธิการจังหวัดไว้ทำไม ยุบไปเลยดีกว่า เพราะว่า ผอ.เขตแต่ละเขตสามารถบริหารจัดการคุณภาพการศึกษาได้อย่างดีเยี่ยมอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาด้านการบริหารงานบุคคลและด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่อย่างใด
เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้แล้ว ตนและคณะได้เสนอข้อเรียกร้องต่อ รมว.ศึกษาธิการ ประกอบด้วย 1. วิชาชีพครูต้องเป็นวิชาชีพควบคุม ครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ 2. ครูต้องเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3. กระทรวงศึกษาธิการ ต้องกระจายอำนาจให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน โรงเรียนเล็ก ใหญ่ สามารถบริหารจัดการตนเองได้ในรูปแบบคณะกรรมการสถานศึกษา 4. กระทรวงศึกษาธิการ ต้องเป็นต้นแบบประชาธิปไตย มีองค์คณะบุคคลที่มีผู้แทนครูมีส่วนร่วมทุกระดับ 5.ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทุกฉบับ และคืนสิทธิ์ผู้ได้รับผลกระทบและบริสุทธิ์ 6. ให้คืนเงินกองทุนพิเศษ ช.พ.ค.ให้ครูผู้เป็นเจ้าของรับผิดชอบ (ผู้จ่ายดอกเบี้ยและธนาคารจ่ายคืนเข้ากองทุน) ได้บริหารจัดการกันเอง 7. ให้ยุติการยุบ เลิก ควบรวมโรงเรียนเล็ก เพราะโรงเรียนเล็ก ๆ ทุกโรงเรียน ชาวบ้านสร้างมาด้วยมือและแรงสามัคคี มีความรักศรัทธา หวงแหนเป็นสถาบันหลักของหมู่บ้าน ชุมชนเล็ก ๆ เหล่านั้น การจัดการศึกษาต้องเป็นรัฐสวัสดิการ คิดกำไรขาดทุนไม่ได้ เป็นการผลิตทรัพยากรทางปัญญา 8. ให้มีการแก้ไขวินัยทางการเงินสำหรับโครงการอาหารกลางวันนักเรียนเป็นการเฉพาะ ไม่ผูกรวมกับระเบียบกระทรวงการคลัง เพราะสภาพบริบทสถานศึกษาแต่ละแหล่ง แต่ละขนาด แต่ละชุมชนมีความต่างกัน วิถีและวัฒนธรรมการบริโภคต่างกัน ยากที่จะจัดซื้อ - จ้างตามระเบียบกฎหมายที่กำหนดได้ หากปรับระเบียบไม่ได้ควรจ่ายเงินให้ผู้ปกครองนักเรียนโดยตรง