เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มติ กบง.ลดเก็บเงินเข้ากองทุน หั่น B7 ลด 1 บาท ปรับลดชนิดดีเซลดัน B6 เป็นน้ำมันพื้นฐาน


4 ต.ค. 2564, 16:07



มติ กบง.ลดเก็บเงินเข้ากองทุน หั่น B7 ลด 1 บาท ปรับลดชนิดดีเซลดัน B6 เป็นน้ำมันพื้นฐาน




วันนี้ ( 4 ต.ค.64 ) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงจากเดิมที่ผสมอยู่ในสัดส่วน 10% หรือบี 10 และ 7% หรือบี 7 ให้เหลือ 6% หรือบี 6 เป็นการชั่วคราว ทำให้เหลือน้ำมันดีเซลจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน 2 ชนิด คือดีเซล บี 6 และบี 20 โดยราคาน้ำมันดีเซล บี 6 จะอยู่ที่ 28.29 บาทต่อลิตร เป็นมาตรการระยะสั้นให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-31 ต.ค.2564 เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของน้ำมันดีเซล บี 7 ลงเหลือ 1 สตางค์ต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซล บี 7 ลดเหลือต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันปรับขึ้นไปอยู่ที่ 31.29 บาทต่อลิตร พร้อมให้ปรับลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซลบี 10 และบี 7 เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร จากเดิมมีค่าเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (5 ต.ค.2564) ถึงสิ้นเดือนต.ค.2564



ทั้งนี้ เพื่อดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะราคาน้ำมันบี 10 ซึ่งเป็นน้ำมันพื้นฐานไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นเกินระดับเพดานที่กำหนดไว้ 30 บาทต่อลิตร ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกว่า 10 ล้านคัน

“ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันกระโดดขึ้นมาพรวดพราด โดยยอมรับว่าราคาน้ำมันดีเซลบี 10 ที่เป็นน้ำมันพื้นฐานได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องใกล้แตะเพดานที่กองทุนต้องดูแลเข้าไปไม่ให้เกินระดับ 30 บาทต่อลิตร แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังขยับขึ้นอีก ก็เตรียมใช้กลไกลของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยดูแลอีกแรงให้ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐานยังคงอยู่ที่ที่ระดับประมาณ 28 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนต.ค.นี้ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นก็พร้อมออกมาตรการฉุกเฉินเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม”


นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าประเมินเบื้องต้นมาตรการดังกล่าวใช้เงินอุดหนุนเดือนละประมาณ 3,000 ล้านบาท หากราคาตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอีก จะมีเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบัญชีน้ำมันดูแลได้อีกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากนั้นจะขอใช้วงเงินช่วยเหลือจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้เพื่อช่วยเหลือตามมาตรการโควิด-19 เข้ามาบรรเทาความช่วยเหลือของประชาชนแทน เช่น การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ภาคครัวเรือน ถังขนาด 15 กิโลกรัม จนถึงสิ้นเดือนม.ค.2565 จะมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 1,400 ล้านบาทต่อเดือน และการดูแลค่าไฟฟ้า เป็นต้น

“การช่วยเหลือแอลพีจี ล่าสุดได้แยกบัญชีระหว่างแอลพีจีและบัญชีน้ำมันออกจากกันเด็ดขาด เนื่องจากติดลบจากการอุดหนุนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท จนใกล้เพดานที่กำหนด 1.8 หมื่นล้านบาท และหลังจากนี้จะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) อนุมัติวงเงินจากพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มาช่วยเหลือเป็นเวลา 4 เดือน(ต.ค.2564-ม.ค.2565) เพื่อตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มแบบถังขนาด 15 กก. ให้อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) โดยจะช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเท่านั้นไม่รวมภาคขนส่ง”

ที่มา : ข่าวสด






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.