รมช.เกษตร มอบวัคซีนลัมปีสกิน ให้แก่เกษตรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ในจ.กาฬสินธุ์
9 ต.ค. 2564, 16:01
วันนี้ 9 ต.ค. 64 ที่ ฟาร์มบ้านสวยด้วยรัก เทศบาลตำบลโคกศรี อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ พร้อมด้วยอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่มอบวัคซีนโรคลัมปี สกิน ให้กับตัวแทนเกษตรกรจำนวน 21 ตำบล ในอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และชมการฉีดวัคซีนให้กับโคกระบือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน
โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรส่วนใหญ่เลี้ยงโคเนื้อเพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ซึ่งในวันนี้ได้มอบวัคซีน จำนวน 3,000 โดส เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน ในเขตอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งการช่วยเหลือชดเชยเกษตรกร กรณีสัตว์ตายจากโรคลัมปี สกิน ตามหลักเกณฑ์เดิม มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 1,618 ราย สัตว์จำนวน 1,767 ตัว อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำกลับมาแก้ไขตามหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ โดยในส่วนของปศุสัตว์มีการปรับเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเกือบทุกชนิดสัตว์ และมีอัตราเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยโค ได้ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 13,000 บาท อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี 22,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปีถึง 2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท และกระบือ ไม่เกินรายละ 5 ตัว อายุน้อยกว่า 6 เดือน 15,000 บาท อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี 24,000 บาท อายุมากกว่า 1 ปีถึง 2 ปี 32,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 39,000 บาท โดยสถานการณ์โรคลัมปี สกิน จ.กาฬสินธุ์ มีสัตว์ป่วยสะสม 24,106 ตัว เกษตรกร 10,208 ราย หายป่วยแล้ว 21,254 ตัว ตาย 2,367 ตัว คงเหลือป่วยสะสม 485 ตัว
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ กล่าวว่า โรคลัมปี สกิน ในโคกระบือ นั้น ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้าง อีกทั้ง รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์อย่างมาก ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตนเองในฐานะกำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งมีสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือในด้านการสนับสนุนเวชภัณฑ์ การใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นในพื้นที่ น้ำยาฆ่าเชื้อ และยารักษาโรค เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายไปสู่พื้นที่ที่ยังไม่เกิดโรค และจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ พบว่ากระบือเป็นสัตว์ที่น่าสนใจในการส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์เห็นได้ชัดถึงการใส่ใจในการเลี้ยงกระบือ ซึ่งจะได้มีการสนับสนุนด้านความรู้ต่อไป