คมนาคม ดันเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ “สนามบินโคราช” ลุ้น“นกแอร์ ”ประเดิมเจ้าแรก
16 ต.ค. 2564, 12:46
เป็นข่าวที่ชาวโคราชจับตามองและมีความหวังว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า สำหรับการเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ ท่าอากาศยานนครราชสีมา โดยเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแล ทย.นั้น ได้มอบนโยบายการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมาเพิ่มเติมให้กับ ทย. โดยสั่งการให้กรมท่าอากาศยานจัดทำแผนงานศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าอากาศยานนครราชสีมา ให้เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ในการบินข้ามภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นเขตอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวของจังหวัดทางอีสานใต้ “นครชัยบุรินทร์” ซึ่งประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ทั้งนี้เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรายงานว่า บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) อยู่ในระหว่างเตรียมความพร้อมเปิดเส้นทางใหม่สู่นครราชสีมา อู่ตะเภา (ระยอง) หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) และเบตง (ยะลา) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่จังหวัดที่ยังไม่มีเที่ยวบินแบบประจำให้บริการหรือมีจำนวนไม่มาก
สำหรับท่าอากาศยานนครราชสีมา สร้างขึ้นในปี 2540 มูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาท ตั้งอยู่บริเวณหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา มีพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 5,500 ตารางเมตร พื้นที่ลานจอดเครื่องบิน 27,455 ตรม. อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 26 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,625 ไร่ เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้รับการประกาศให้เป็นท่าอากาศยานศุลกากร สามารถรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศได้ ถือเป็นท่าอากาศยานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อเปิดใช้บริการได้ไม่นาน ล้วนประสบปัญหาต้องยกเลิกทำการบิน และก่อให้เกิดสภาวะสนามบินร้างอยู่เป็นประจำ ทิ้งช่วงเป็นระยะๆ 2-3 ปีเช่นนี้มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน
เริ่มจาก การบินไทย ซึ่งย้ายมาทำการบินที่ท่าอากาศยานแห่งใหม่ เป็นเจ้าแรกในฐานะเจ้าของสัมปทานเส้นทางการบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ได้ราว 2 ปีก็ยกเลิก เพราะขาดทุนผู้โดยสารมาใช้บริการน้อย หลังจากเป็นสนามบินร้างอยู่ 2-3 ปี แอร์อันดามันได้เข้าช่วงปี 2542-2543 ภายใต้การพยายามประคับประคองช่วยเหลือจากการบินไทย ด้วยการซื้อที่นั่งช่วยจำนวน 10 ที่นั่งในทุกเที่ยวบิน แต่ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ จากนั้นการบินไทยกลับมาบินเองอีกครั้ง อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องเลิกราไป และปล่อยให้เป็นสนามบินร้าง ตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา ต่อด้วยไทยแอร์เอเชีย ที่นำสายการบินราคาประหยัดเข้ามาบิน เพื่อหวังให้อยู่ได้ แต่ต้องปิดตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยสาเหตุเดียวกัน ปี 2554 สายการบินไทยรีเจียนัลแอร์ไลน์ส เริ่มทำการบินกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในวันที่ 2 กันยายน ก็ต้องยกเลิกทำการบินไปในที่สุด ปี 2558 สายการบินกานต์แอร์ เปิดเส้นทางการบินเชื่อมภูมิภาค นครราชสีมา - เชียงใหม่ เริ่มทำการบินวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 และต่อมาต้องยกเลิกการทำการบิน เนื่องจากปัญหาด้านใบอนุญาตทำการบิน ปี 2560 สายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส เปิดให้บริการเส้นทางบิน นครราชสีมา - เชียงใหม่, ภูเก็ต และดอนเมือง ในเดือนธันวาคม ต่อมาประกาศปิดสายการบินทั้งหมด เมื่อ17 เม.ย.นี้ 2561 เผยทนแบกรับภาระขาดทุนไม่ไหว ขาดทุนเดือนละกว่า 1 ล้านบาท
สำหรับ ปัจจัยหลักที่การเดินทางโดยเครื่องบินของ จ.นครราชสีมาไม่ได้รับความนิยม หัวใจสำคัญของปัญหาอยู่ที่ท่าอากาศยานนครราชสีมาอยู่ไกลจากตัวเมืองมากเกินไป และไม่มีระบบขนส่งผู้โดยสาร ระหว่างตัวเมืองกับสนามบินรองรับ ผู้โดยสารที่จะใช้บริการเครื่องบินต้องมีรถยนต์ส่วนตัวไปส่ง-ไปรับ ซึ่งต้องเสียเวลาเดินทางไปสนามบินไม่ต่ำกว่า 45 นาที รวมเวลา กว่าเครื่องบินจะออก ซึ่งช้าและยุ่งยากกว่าการเดินด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือ รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ซึ่งขัดกับหลักของความเป็นจริงที่เมื่อต้องจ่ายแพงกว่า แต่กลับยุ่งยากไม่สะดวกและเสียเวลามากกว่า