"พิชัย" เตือน "บิ๊กตู่" เลิกเคอร์ฟิว-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คืนความปกติให้ปชช.ก่อนเปิดประเทศ
18 ต.ค. 2564, 15:19
วันนี้ ( 18 ต.ค.64 ) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ประกาศว่าจะเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยระบุว่า "พลเอกประยุทธ์ต้องคิดให้ครบ ถ้าจะเปิดประเทศก็ควรยกเลิก พ.ร.ก ฉุกเฉิน และยกเลิกเคอร์ฟิว เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะปกติเสียก่อน เพราะที่ผ่านมา พ.ร.ก ฉุกเฉิน ไม่ได้ป้องกันการระบาดของโรคได้แต่อย่างใด มีไว้เพื่อจัดการผู้ประท้วงและคนเห็นต่างเท่านั้น"
พิชัย ชี้ว่า การประกันภัยของนักท่องเที่ยว ในต่างประเทศจะไม่คุ้มครองการเดินทางไปยังประเทศที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นรัฐบาลจึงควรจะต้องนำ พ.ร.บ ควบคุมโรคติดต่อ ปรับปรุงใหม่มาใช้แทน แต่ปัญหาขณะนี้คือ รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ ยังไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงภายในพรรคพลังประชารัฐเอง ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาของประเทศไปแล้ว
การเปิดประเทศเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้ารัฐบาลอย่างหนักมาตลอด ช่วยให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ประเทศมีรายได้เข้ามาและปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลง แต่การจะเปิดประเทศได้จะต้องมีความพร้อม การเปิดประเทศโดยไม่พร้อมจะสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา อีกทั้งปัจจุบันประชาชนฉีดวัคซีนครบสองเข็มเพียง 34.9% และมีประชากรฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียง 51.6% เท่านั้น ซึ่งประเทศที่สามารถเปิดประเทศได้จะมีปริมาณการฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วประมาณ 70-80% อีกทั้งการระบาดของโรคในประเทศไทยก็ยังอยู่ในระดับสูง มีผู้ติดเชื้อใหม่วันละกว่าหมื่นรายและมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยรายทุกวัน
การเร่งเปิดประเทศโดยที่รัฐบาลไม่เตรียมความพร้อม มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่หรืออาจเกิดปัญหาการกลายพันธุ์ อาจเป็นปัญหาจนต้องปิดประเทศอีก สร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงประเทศ จึงอยากให้พลเอกประยุทธ์พิจารณาให้ดี อย่าเปิดประเทศเพราะเหตุผลทางการเมืองเป็นเป็นผลจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน
นอกจากนี้การจะเปิดประเทศ พลเอกประยุทธ์ จะต้องมีแผนงานในการช่วยเหลือ SMEs ที่มีปัญหาทางการเงินให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ซอฟท์โลนดอกเบี้ยต่ำ การลดดอกเบี้ย การยืดการชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้ ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเคยเสนอไว้แล้วและการแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้ให้กับธุรกิจ SMEs จะเป็นนโยบายหลักของพรรค