เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"อนุทิน" จ่อชง ศบค. เคาะแผนเปิดกทม. วันนี้ ลั่น ! พ.ย. สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย


20 ต.ค. 2564, 10:50



"อนุทิน" จ่อชง ศบค. เคาะแผนเปิดกทม. วันนี้ ลั่น ! พ.ย. สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย




เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศแม้แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงในอยู่ในระดับต่ำกว่าหมื่นคน และเสียชีวิตต่ำกว่า 100 คนต่อวัน แต่การติดเชื้อใน 5 จังหวัดภาคใต้ยังน่าเป็นห่วง และล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้ตั้ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ผอ.ศบค.ส่วนหน้าเข้ามาดูแลจนมีเสียงคัคค้านไม่เห็นด้วย

ล่าสุด ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 19 ตุลาคม นายธนากร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อคำถามว่านายกฯจะแก้ปัญหาหรือทำความเข้าใจอย่างไร กรณีที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ทักท้วงเรื่องการตั้ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ผอ.ศบค.ส่วนหน้า ว่า เรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำความเข้าใจกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท.แล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นการบูรณาการการทำงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาดของกระทรวงสาธารณสุข และมาตรการของ ศบค. เป็นไปตามหลักด้านการสาธารณสุข

ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ภท. ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของนายกฯที่แต่งตั้ง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษานายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศบค.ส่วนหน้า ว่า นายศุภชัยใช้ความเป็น ส.ส. ในการแสดงความเห็นส่วนตัว ซึ่งตนก็ชี้แจงไปว่าเรื่องมีมากกว่านั้น ไม่ใช่เรื่องของแพทย์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความมั่นคง การควบคุมสถานการณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้แพทย์และพยาบาลเข้าถึงคนไข้ และได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งตนได้ทำความเข้าใจกับนายศุภชัยเรียบร้อยแล้ว โดยได้แจ้งไปว่าก่อนจะเขียนแสดงความเห็นอะไรให้โทรมาถามตนก่อน

เมื่อถามว่า ยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นของนายศุภชัย ไม่เป็นการขัดแย้งต่อคำสั่งนายกฯ และสามารถทำงานร่วมกับ สธ.ได้ นายอนุทินกล่าวว่า สธ.มีแต่ได้ เพราะการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากไม่มีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมจะลำบาก ดังนั้น การที่หลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทยและกองทัพเข้ามาถือว่าร่วมกันทำงานเพื่อประชาชน ซึ่ง พล.อ.ณัฐพลมีประสบการณ์ควบคุมโควิด และเคยเป็น ผอ.ศบค.ศปก.มาทั้งปี ดังนั้น ประชาชนมีแต่จะได้จากคำสั่งของนายกฯ เราจึงต้องมีสปิริตพอที่จะรู้ว่านี่เป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

นายอนุทินกล่าวว่า ต้องจับตาการระบาดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นการระบาดในครัวเรือนและชุมชน ต้องเข้าไปล้อมกรอบ จัดการไม่ให้แพร่กระจายออกนอกพื้นที่ ดูแลรักษากันในนั้น ภายใต้ระบบคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) และแยกไปรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) สนาม นอกจากนั้นยังขอให้ผู้นำชุมชนสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นของการรับวัคซีน ตั้งเป้าว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย เพราะสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้า จะเห็นว่ายอดผู้ป่วยยังทรง ไม่เพิ่มไปจากเดิม ก็เพราะได้วัคซีนเข้ามาช่วย”



นายอนุทินกล่าวว่า ตอนนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยละ 50 และในเดือนตุลาคมก็น่าจะได้ถึงร้อยละ 70 น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ จากนั้นในเดือนพฤศจิกายนจะระดมฉีดเข็มที่ 2 ทันที ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อ ยังจะมีรายงานเข้ามา แต่ยอดการป่วยหนักและเสียชีวิตจะน้อยลงแน่นอน เพราะวัคซีนป้องกันป่วยและป้องกันการสูญเสีย

ในขณะนี้ภาพรวมทั่วประเทศฉีดวัคซีนได้มากกว่า 65 ล้านโดสแล้ว ถือว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนหนึ่งเพราะฉีดให้เด็กด้วย จากที่ไม่มีแผนนี้ตั้งแต่แรก ขณะที่วัคซีนก็เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ คาดว่าจะฉีดได้มากกว่าเป้าที่วางไว้ว่าจะฉีดให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากร ซึ่งผู้บริหาร สธ.มองเป้าที่ร้อยละ 80 เมื่อก่อนฉีดได้วันละ 6 แสนโดส ก็เยี่ยมแล้ว ปัจจุบันบางวันฉีดได้แตะ 1 ล้านโดส

นายอนุทินกล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่าจะมีวัคซีนของไทยเข้าสู่ระบบบริการด้วย เพราะหลายทีมผู้ผลิต มีความคืบหน้าไปมาก อาทิ ทีมขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) และทีมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้วางแผนฉีดแค่ 2 เข็ม แต่มองไปถึงเข็มบูสเตอร์โดสแล้ว ซึ่งนักวิชาการของไทยเก่งมาก สามารถปรับการใช้วัคซีนให้สอดคล้องกับการระบาด เป็นที่มาของสูตรวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ในอนาคตจะมีการปรับอีก ไปจนถึงการฉีดเข็มที่ 3 ไม่ว่าประชาชนจะฉีด 2 เข็ม เป็นสูตรไหนมา ประเทศไทยมีคณะศึกษาทำงานคอยวัดภูมิคุ้มกัน ถ้าพบว่าภูมิตกจะนัดมาฉีดเข็มที่ 3 แน่นอน

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่า ทั่วโลกหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นร้อยละ 50-60 จากภาวะปกติ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์ในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและสหรัฐประมาณ 1 ใน 4 หรือ ส่วนในไทยช่วง 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 4,778 ราย ทารกติดเชื้อ 226 ราย มารดาเสียชีวิต 95 ราย ทารกเสียชีวิต 46 ราย

สำหรับการฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์เริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเข็มแรก 7.5 หมื่นคน เข็มที่ 2 อีก 5.1 หมื่นคน และเข็มที่ 3 รวม 526 คน และช่วงเดือนธันวาคมนี้ จะมีหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ประมาณ 3 แสนคน แต่ขณะนี้ฉีดวัคซีนได้เพียงร้อยละ 25 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีหญิงตั้งครรภ์มาก ยังฉีดได้น้อย เพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น จึงต้องรณรงค์ให้เข้ารับวัคซีน เพราะหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 ไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงกลุ่มที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีน


จากผลสำรวจอนามัยโพล หญิงตั้งครรภ์กับการฉีดวัคซีนโควิดระหว่างวันที่ 15-29 กันยายน จากหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศ 1,165 คน ส่วนใหญ่อยู่ร่วมกับสมาชิกในบ้านมากกว่า 2 คนขึ้นไป ครึ่งหนึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย เมื่อถามว่าจะฉีดหรือไม่ ประมาณร้อยละ 60 บอกว่าตั้งใจจะฉีด ที่เหลือยังลังเล สาเหตุที่ลังเลพบว่า 1 ใน 3 กังวลเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียงของวัคซีน และ 1 ใน 3 ไม่มั่นใจประสิทธิภาพของวัคซีน ขณะนี้ สธ.พยายามให้ความรู้และข้อมูลว่าไม่ต้องกังวล เพราะตรวจสอบแล้วว่าวัคซีนมีความปลอดภัยทุกตัว

นพ.เอกชัยกล่าวว่า ผลสำรวจพบว่าสตรีมีครรภ์ร้อยละ 50-60 ยังต้องไปทำงานนอกบ้าน เป็นข้อกังวลว่าถ้ายังไม่ได้ฉีดวัคซีนและไปทำงานนอกบ้านด้วยจะป้องกันตนเองอย่างไร และสตรีมีครรภ์เกินร้อยละ 70 ติดเชื้อจากในบ้าน แนะนำถ้าเป็นไปได้ให้สวมหน้ากากในบ้านด้วย และไม่ควรรับประทานอาหารร่วมกัน และทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม จึงขอให้สตรีมีครรภ์ที่เหลือ 2 แสนกว่าราย รับวัคซีนป้องกันโควิด หญิงให้นมบุตรรับวัคซีนก็ให้นมบุตรได้ ไม่มีผลต่อน้ำนม ประโยชน์จากฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงหรือผลข้างเคียง






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.