รองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ พบชาวบ้านค้านผนวกป่าเข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา
22 ต.ค. 2564, 08:15
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม อบต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 5 พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฏร พร้อมด้วย น.ส.จินณ์ตวรรณ ไตรสรณกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปเป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการประกาศพื้นที่เตรียมการกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 โดยมี นางสุวรรณา วรรณศรี นายอำเภอภูสิงห์ พร้อมด้วย ปลัด อบต.ไพรพัฒนา รักษาการแทนนายก อบต.ไพรพัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในเขต ต.ไพรพัฒนาเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยในการประชุมผู้นำหมู่บ้าน ต.ไพรพัฒนาทุกคนต่างคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะมีการผนวกป่าไพรพัฒนา ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ เข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา โดยขอให้คงป่าไพรพัฒนาไว้เช่นเดิม เพื่อให้ชาวบ้าน ต.ไพรพัฒนา ช่วยกันดูแลรักษาป่าไพรพัฒนาให้เป็นครัวของชาวบ้านและเพื่อให้เป็นสมบัติของแผ่นดินร่วมกัน โดยมีการยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และประธานคณะกรรมาธิการทรัยยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏรเพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาตามที่ชาวบ้านร้องขอในเรื่องนี้โดยด่วนด้วย
นายวีระสิทธิ์ นรสิงห์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านแซรไปร ต.ไพรพัฒนา กล่าวว่า ชาวบ้านเขต ต.ไพรพัฒนา ที่ยากจนได้อาศัยพื้นที่ป่าไพรพัฒนาในการเข้าไปหาเห็ด หน่อไม้ ผักหวาน หาดอกกระเจียวมาขายเพื่อเลี้ยงชีพ เนื่องจากว่าไม่มีที่ดินทำกิน แต่ถ้ารวมเอาเขตป่าที่ชาวบ้านเข้าไปหาของป่า เข้าไปเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด ชาวบ้านก็จะลำบากในการทำมาหากิน เนื่องจากว่า แค่ยังไม่ได้ผนวกเข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าชาวบ้านก็ยังยากลำบากเดือดร้อนมาก เนื่องจากว่า หากชาวบ้านเขต ต.ไพรพัฒนา จะเข้าไปหาแมงดาหรือผักหวานต้องขออนุญาตจากทางราชการเมื่อขอไปสองครั้ง พอครั้งที่สามจะไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้ผนวกเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าแต่อย่างใด มันจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากกับชาวบ้านที่เข้าไปหาของป่าเป็นอย่างมาก
นายบุญมี เสนคราม กำนัน ต.ไพรพัฒนา กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ลึกลับมากก็คือ ทางราชการจะขีดเส้นเข้าไปในเมืองใหม่ช่องสะงำ ซึ่งตรงบริเวณจากเมืองใหม่ช่องสะงำขึ้นไปตรงบริเวณที่ อบต.ไพรพัฒนา ทำเป็นที่จอดรถ ถ้าดูตามแผนที่ที่ทางราชการขีดเอาไว้ก็คือ เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน จ.สุรินทร์ ซึ่งตรงนี้จะเป็นเขตของ จ.สุรินทร์ ทาง จ.สุรินทร์ และ จ.ศรีสะเกษ ต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าพื้นที่ควรจะเป็นของจังหวัดใด ซึ่งตนเห็นว่าจะเกิดปัญหาไปข้างหน้า ตนเห็นว่า หากจะผนวกป่าไพรพัฒนาเข้าเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ควรให้เว้นระยะทางระยะห่างจากถนนเอาไว้แบบนี้ก็น่าจะได้เช่น ควรที่จะห่างออกจากถนนไปซักประมาณ 2,000 เมตร เพื่อให้เป็นช่องทางไปสู่จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้าน ไว้ให้ชาวบ้านได้มีพื้นที่ในการเข้าไปหากินกับป่าได้ด้วย แต่ถ้าปิดป่าทั้งหมดตนคิดว่าชาวบ้านจะเดือดร้อนมาก ซึ่งหากเป็นเขตอนุรักษ์ทั้งหมดก็จะเหมือนกับการปิดด่านจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชาช่องสะงำ เนื่องจากว่าจะกระทบค้าขาย 2 ชาติ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไม่สามารถเข้าไปหาของป่าเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ถ้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าก็จะต้องมีการเก็บเงินค่าเข้าไปในพื้นที่เช่นการขึ้นไปเที่ยวชมผามออีแดงที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร หรือที่ผาแต้ม แต่ถ้ามีการปิดตรงบริเวณทางขึ้นจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ และมีการตั้งด่านเก็บเงินขึ้นมา ปัญหาที่จะตามมาก็คือการค้าขายระหว่างชาวไทยกับชาวกัมพูชาจะมีผลกระทบมาก ทางราชการจึงควรที่จะเว้นช่องถนนเหลือเอาไว้บ้างไม่ใช่ผนวกป่าไพรพัฒนาเข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลาทั้งหมด
นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 5 พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า ชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 แต่ว่าเรื่องนี้ล่าช้ามาก ตนจึงได้แนะนำว่าให้นำเรื่องนี้เข้าคณะกรรมาธิการที่ตนเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ก็จะได้ดำเนินการให้เร่งด่วนที่สุด ซึ่งทางการได้เตรียมความพร้อมที่จะประกาศป่าไพรพัฒนาเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้าหากช้าจะไม่ทันการณ์ มันก็จะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เมื่อเป็นกฎหมายแล้วก็จะแก้ยาก ในช่วงนี้เป็นการเตรียมการตนจึงคิดว่าน่าที่จะคุยกันได้อยู่ คงจะต้องใช้เวทีของคณะกรรมาธิการฯสภาผู้แทนราษฎรในการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านในครั้งนี้ ซึ่งในช่วงนี้ก็มีการประชุมคณะกรรมาธิการอยู่ แต่เนื่องจากว่าเป็นการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏร คณะกรรมาธิการก็ได้พากันลงพื้นที่ของตนเองไม่ค่อยได้ประชุมร่วมกัน ก็คงจะเปิดประชุมในวันที่ 1 พ.ย. 64 ซึ่งตนจะดำเนินการนำเรื่องนี้ไปยื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการฯแล้วก็เข้าคิวรับเรื่องเข้ามาบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการให้ทันในวันที่ 1 พ.ย.64 นี้