โคราชประกาศเตือน 11 อำเภอ เฝ้าระวัง หลังเขื่อนลำตะคองเตรียมระบายน้ำรับพายุลูกใหม่
24 ต.ค. 2564, 18:25
วันนี้ ( 24 ต.ค.64 ) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงนามในประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังการระบายน้ำเขื่อนลำตะคอง ระบุว่า ด้วยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา ได้รับแจ้งจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ว่าปัจจุบันอ่างเก็บน้ำลำตะคอง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ ๓๒๕.๕๑ ล้านลูกบาศก์เมตร (๑๐๓.๕๓ % ของความจุที่ระดับเก็บกัก) ยังสามารถรอรับน้ำได้อีก ๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังมีน้ำไหลเข้าอ่างลำตะคอง อย่างต่อเนื่องประมาณ ๓ - ๔ ล้านลูกบาศก์มตร/วัน และจากการพยากรณ์อากาศ ๗ วันข้างหน้าของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงวันที่ ๒๗ - ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๔ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างจะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ ๕๐-๖๐ ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงมีความจำเป็นต้องทยอยการระบายน้ำด้วยอัตรา ๑๐-๒๐ ลูกบาศก์มตร/วินาที หรือประมาณ ๑ - ๑.๕ ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ต้านท้ายเขื่อนลำตะคอง โดยจะเริ่มระบายน้ำตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงขอให้ดำเนินการ ตังนี้
๑. ให้อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา เทศบาลนครนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ จักราช โนนสูง พิมาย ชุมพวง ลำทะเมนชัย และอำเภอเมืองยาง แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งริมน้ำที่อาจได้รับผลกระทบ ให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง (ระดับการแจ้งเตือนสีน้ำเงิน) โดยให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และให้เจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
๒. จัดเวรเฝ้าระวังประจำตามจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ กรณีประเมินสถานการณ์แล้วพบว่า จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ให้อพยพประชาชนไปยังจุดอพยพที่ได้จัดเตรียมไว้โดยทันที
๓. ให้ความสำคัญในการแจ้งให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด
๔. ประสานบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ หน่วยทหาร เครือข่ายภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปพร. และประชาชนจิตอาสาภัยพิบัติในพื้นที่ เตรียมความพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย และกำลังพลให้มีความพร้อมปฏิบัติงานตามแผนเผชิญเหตุ ฯ และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยตลอด ๒๔ ชั่วโมง
๕. รายงานสถานการณ์ และผลการดำเนินการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ทราบทันทีจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด ทางโทรศัพท์/โทรสาร