กรมชลฯ เร่งระบายน้ำท่วมขังเจ้าพระยา-ท่าจีน เตือนภาคใต้เตรียมรับมือฤดูฝน
25 ต.ค. 2564, 15:26
วันนี้ ( 25 ต.ค.64 ) กรมชลประทาน เดินหน้าเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและท่าจีนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณน้ำทางตอนบนลดลงติดต่อกันมาเกือบสัปดาห์แล้ว ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนลดลงในระยะต่อไป ด้านภาคใต้ใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว สั่งเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (25 ต.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 57,778 ล้าน ลบ. หรือคิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 33,848 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 18,776 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,133 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 7,437 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 10,803 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน(25 ต.ค. 64)ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,517 ลบ.ม.วินาที แนวโน้มลดลง ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,698 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ทางด้านของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำในอัตรา 600 ลบ.ม./วินาที และจะพิจารณาปรับลดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของอาคารชลประทาน และผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 24 - 27 ต.ค. 64 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนลดลง ในช่วงวันที่ 28 - 30 ต.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทาน ในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ ให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด พร้อมทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน